ข่าว

บพข. ร่วมผลักดันการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเชิงคุณภาพ (NQI) ของประเทศรับรองงานวิจัยระดับสูงออกสู่ตลาด

วันที่ 4 ตุลาคม 2565 ณ ห้องเพชรชมพู โรงแรมดิเอมเมอรัล รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ได้เป็นประธานในการเปิดการสัมมนา ” การนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นในโครงการ การศึกษานโยบาย โครงสร้างองค์กร และการบริหารจัดการเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเชิงคุณภาพ (NQI) ของประเทศไทย ” ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นงานศึกษาวิจัยโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในการเสนอแนวทางการยกระดับ NQI และ แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระบบ NQI ของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อจำกัดและอุปสรรคของระบบ NQI ทบทวนอำนาจหน้าที่และภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ NQI ทั้งหมดของประเทศ โดยมีการทบทวนแนวทางการปฏิบัติที่ดี ของ NQI จากต่างประเทศเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในด้านโครงสร้างการบริหารจัดการระบบ การปรับปรุงการทำงานระหว่างหน่วยงาน และเพื่อให้ได้ร่างยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระบบ NQI ของประเทศไทย

ในปัจจุบัน การสนับสนุนทุนวิจัยในการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง มีข้อจำกัดในเรื่องการรับรองมาตรฐานต่างๆ ทำให้เป็นอุปสรรคในการนำงานวิจัยจากหิ้งลงสู่ห้าง งานวิจัยจึงไม่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จึงมีความเห็นตรงกัน ในการพัฒนาระบบ NQI ให้ครอบคลุม รวมศูนย์ มีความเชื่อมโยง และได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์มีบูรณาการทั้งประเทศ จึงได้มอบหมายให้ TDRI เป็นผู้ศึกษาโครงสร้างองค์กร และการบริหารจัดการเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเชิงคุณภาพ (NQI) ของประเทศไทย และจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนระบบ NQI ของประเทศไทย รวมทั้งจัดให้มีการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้ NQI ได้รับการพัฒนาให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

โครงสร้างพื้นฐานเชิงคุณภาพของประเทศไทย (Thailand National Quality Infrastructure) หรือ NQI คือระบบที่ประกอบขึ้นจากองค์กรรัฐและเอกชน ที่มีนโยบาย กฎหมาย กรอบการกำกับดูแลและแนวปฏิบัติร่วมกัน โดยแบ่งได้ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. มาตรวิทยา (Metrology) 2. การกำหนดมาตรฐาน (Standardization) 3. ระบบรับรองงาน (Accreditation) 4. การตรวจสอบรับรอง (Conformity Assessment) และ 5. การกำกับดูแลตลาด (Market Surveillance)


ตัวอย่างการดำเนินงานของการผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องตาม 5 องค์ประกอบ

1. ผู้ผลิตต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่หน่วยกำหนดมาตรฐานกำหนด เช่น มาตรฐาน ISO ของสินค้าอุตสาหกรรม มาตรฐาน Codex ของสินค้าเกษตร และอาหาร

2. หน่วยตรวจสอบรับรองจะเข้ามาตรวจสอบรับรองสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค

3. หน่วยรับรองระบบงานมาทำการประเมินหน่วยตรวจสอบและรับรอง ตามมาตรฐานเพิ่มความเชื่อมั่นในการทดสอบ มีความเป็น กลางในการรับรองบริการของข้อ 2
4. มาตรวิทยาจะเป็นผู้ถ่ายทอดความถูกต้องของการวัดไปสู่หน่วยตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานการวัดแห่งชาติ
5. สินค้าและบริการที่เข้าตลาด จะมีหน่วยงานกำกับดูแลตลาด ก่อนและหลังเข้าตลาด ซึ่งหากตรวจพบว่าสินค้าและบริการไม่ได้มาตรฐาน จะมีกลไกตัดสินค้านั้นออกจากตลาด
ซึ่งทั้ง 5 องค์ประกอบดังกล่าว จะต้องมีหน่วยงานกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบ NQI ที่ชัดเจนและมีบูรณาการทั้งประเทศ เพื่อให้มาตรฐานการตรวจสอบมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือในระดับสากล ทำให้สินค้าและบริการของไทยมีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในตลาด

Thailand National Quality Infrastructure

จากรายงานการศึกษาของ TDRI ในเรื่อง NQI ของต่างประเทศ พบความน่าสนใจในหลายประเด็น อาทิ

ประเทศเยอรมนี มีหน่วยงานกำกับด้าน NQI แยกกันอย่างชัดเจน โดยภาครัฐดูแลด้านมาตรวิทยา ตรวจสอบและรับรอง และการกำกับดูแลตลาด ส่วนการกำหนดมาตรฐานนั้นเป็นของภาคเอกชน หรือ ประเทศจีนและไต้หวัน รัฐเป็นผู้ดำเนินการระบบ NQI ยกเว้น การตรวจสอบและรับรองที่ดำเนินการโดยเอกชน ไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐ

หรือในประเทศสหรัฐอเมริกา เอกชนเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ซึ่งเป็นความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง รวมถึงเปิดกว้างและเกิดความสมดุลย์ทางการค้า ซึ่งส่วนใหญ่ NQI ในต่างประเทศดำเนินการตามคำแนะนำของ UNIDO

UNIDO หรือ องค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Industrial Development Organization) ซึ่งเป็นองค์กรประเภทพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติในการส่งเสริมและเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะในภาคการผลิต มีความพยายามในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้มีบทบาทแข็งขันมากขึ้นในการกำหนดและการนำมาตรฐานสากล NQI ไปใช้ เป็นการสร้างความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดโลกของประเทศกำลังพัฒนา

สมุดปกขาวการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ

เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำนโยบายและแผนแม่บท NQI ของประเทศ มีการจัดทำธรรมนูญว่าด้วย NQI เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้าน NQI โดยเสนอให้จัดหน่วยงาน NQI ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มองค์กรหลักระดับชาติ ( มาตรวิทยา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และองค์กรรับรองระบบงาน) กลุ่มหน่วยงานตรวจสอบและรับรอง และ กลุ่มผู้รับบริการ ซึ่งจะเตรียมเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. ที่จะช่วยปิดช่องว่างด้าน NQI ของประเทศ ทำให้เกิดการบูรณาการในการพัฒนา ระบบ NQI ลดความทับซ้อนของบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ ระบบ NQI ของไทย พัฒนาให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในระดับสากล

แนวทางการพัฒนา NQI ในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ

การพัฒนา NQI เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่อุตสาหกรรมข้าวไทย

ปัญหาหลักสำหรับอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์ข้าวไทยไม่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากไทยส่งออกข้าวพื้นแข็งราคาถูก ในขณะที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการบริโภคข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม หรือปัญหาด้านคุณภาพการผลิต ต้นทุนสูง รวมทั้งการสนับสนุนงานวิจัยด้านข้าวของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ การปรับปรุงระบบ NQI ของไทย ในการแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมข้าวไทย ตั้งแต่ระดับนโยบาย NQI ข้าว ด้านการผลิตพันธุ์ข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาด การจัดทำข้อมูลกลางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ให้แก่ผู้ผลิต เพื่อสนับสนุนให้เอกชนเกิดการแข่งขันด้านมาตรฐาน การพัฒนามาตรฐานการตรวจสอบรับรอง เช่น การเพิ่มหน่วยงานสำหรับตรวจสอบรับรอง หรือว่าจ้างเอกชนเพิ่มเติมพร้อมกับการพัฒนาความสามารถด้านการตรวจสอบรับรองให้มากขึ้น พัฒนาการวิจัยและพัฒนาด้านข้าว และการกำหนดแนวทางในการกำกับดูแลตลาดอย่างเป็นระบบ

การพัฒนา NQI เพื่อเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพร

หากเทียบตลาดค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกปี 2564 มีมูลค่า 17.6 แสนล้านบาท กับตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย มีมูลค่า 45.6 พันล้านบาท (ประมาณ 2.6 % เมื่อเทียบกับตลาดโลก ) แต่ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสารสกัดสมุนไพรประมาณ 12.6 พันล้านบาท (ปี 2563) ทั้งๆที่ไทยเป็นประเทศที่มีความสมบูรณ์ของพื้นที่ และมีความหลากหลายของสมุนไพร ซึ่งปัญหาหลักของอุตสาหกรรมสมุนไพรในไทยมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการเพาะปลูกให้ได้คุณภาพ และมาตรฐาน รวมทั้งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานมีจำนวนน้อย ทำให้ปริมาณสารสกัดที่มีคุณภาพไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ไทยยังขาดการพัฒนางานวิจัยหรือข้อมูลการศึกษาทางคลินิก เพื่อส่งเสริม Health claim จากสมุนไพรอย่างเพียงพอ ดังนั้น ข้อเสนอการพัฒนา NQI ของไทย จึงมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ การให้ความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรในเรื่องการดำเนินการตามมาตรฐาน เพิ่มการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้มาตรฐานสากล การเพิ่มหน่วยตรวจสอบและรับรอง ตามมาตรฐาน GAP หรือ Organics การเพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการมาตรฐาน OECD-GLP รวมถึงการกำหนดแนวทางในการสุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรในตลาดให้ชัดเจน

การพัฒนา NQI เพื่อเพิ่มศักยภาพในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

แต่หากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศไทยมีการกำหนดมาตรฐานที่สอดคล้องกับ UN Regulation ของ UNECE ในสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนไปยังต่างประเทศต้องมีการทดสอบซ้ำที่ประเทศปลายทาง

นอกจากนี้ ไทยยังมีมาตรฐานยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่จำเป็นด้านความปลอดภัยที่ยังไม่ครบถ้วนตามข้อแนะนำขององค์กรนานาชาติของผู้ผลิตรถยนต์

อีกทั้ง หน่วยตรวจสอบและรับรองในประเทศยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ข้อเสนอแนวทางการ พัฒนา NQI ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงมีการพัฒนามาตรฐานยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ให้ครบถ้วน ตามที่กำหนดใน UN Regulation รวมทั้งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศ ให้มีกฎระเบียบทางเทคนิคด้านความปลอดภัยให้ครอบคลุม รวมทั้งเร่งพัฒนาหน่วยทดสอบและรับรองต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อรองรับการทดสอบตามมาตรฐาน

ประเทศไทย ส่งออกยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ เฉลี่ยปีละ 1.3 ล้านล้านบาท (2560 – 2564)

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
การพัฒนา NQI เพื่อเพิ่มศักยภาพในอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์j
การส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยส่วนใหญ่ เป็นวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ โดยถุงมือยางทางการแพทย์เป็นสินค้าส่งออกมากที่สุด

ในอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs ที่ผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญได้ครบทุกประเภท เนื่องจากตลาดภายในประเทศยังมีไม่มากพอที่จะมีการลงทุนโรงงานผลิต รวมทั้งโรงพยาบาลต่างๆนิยมใช้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

ในด้านระบบ NQI ของประเทศ ยังขาดหน่วยงานในการกำกับดูแลด้านการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์

การรับรองมาตรฐาน GMP สำหรับโรงงานผลิตยังไม่สามารถรับรองได้ครบทุกโรงงาน รวมทั้งผู้ประกอบการยังไม่มีองค์ความรู้เพียงพอในด้านการทดสอบมาตรฐานการส่งออก และโครงสร้างพื้นฐานด้านห้องปฏิบัติการ การทดสอบ การสอบเทียบ ยังไม่สามารถรองรับตามความต้องการของผู้ประกอบการได้

ข้อเสนอแนวทางการพัฒนา NQI ในด้านการกำหนดมาตรฐาน ได้แก่ การจัดทำมาตรฐานโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พุ่งเป้า การสร้างตลาดภายในประเทศโดยกลไกการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การสนับสนุนการบริการฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านมาตรฐานของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนด้านนโยบายภาพรวม ควรจัดให้มีหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการการใช้เครื่องมือแพทย์ แนวโน้มทิศทางการตลาด สำหรับผู้ประกอบการ

และในระยะยาวการพัฒนาการตรวจสอบและรับรองนั้น ควรมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบเครื่องมือแพทย์แบบครบวงจร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรับรองผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอ

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *