ข่าว

บพข.หนุนวิจัยกรีนแบตเตอรี่ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม หนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

บพข.หนุนงานวิจัยสวทช.นำแบตเตอรี่ใช้แล้วและวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร พัฒนาแบตเตอรี่คุณภาพใช้ซ้ำได้ปลอดภัย คาดขยายผลในระดับอุตสาหกรรม เตรียมตั้งโรงงานต้นแบบในปี 2565 สร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม หัวหน้าโครงการการนำขยะแบตเตอรี่ชนิดอัลคาไลน์ สังกะสีคาร์บอน ลิเธียมไอออน และขยะผลผลิตการเกษตรมารีไซเคิลเพื่อพัฒนาเป็นแบตเตอรี่แบบอัดประจุซ้ำได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เปิดเผยว่า ปัญหาการจัดการขยะพิษจำพวกแบตเตอรี่ใช้แล้วนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ไม่อาจเพิกเฉย แม้ปัจจุบันจะมีวิธีการนำไปฝังกลบแต่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการชะล้างนำความเป็นพิษของขยะแบตเตอรี่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต ดังนั้นการนำความรู้นวัตกรรมไปพัฒนาแบตเตอรี่แบบอัดประจุซ้ำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ปัจจุบัน สวทช.ได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการย่อยอีก 2 โครงการคือ การวิจัยวัสดุจากการรีไซเคิลแบตเตอรี่อัลคาไลน์และแบตเตอรี่สังกะสี-คาร์บอนสำหรับประยุกตใช้เป็นขั้วอิเล็กโทรดของแบตเตอรี่สังกะสีไอออน มีรศ.ดร.รจนา พรประเสริฐสุข คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ อีกโครงการคือ การใช้คาร์บอนรูพรุนขนาดนาโนจากวัสดุเหลือทิ้งชีวภาพสำหรับประยุกต์ใช้เป็นขั้วอิเล็กโทรดของแบตเตอรี่สังกะสีไอออน มีดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยกราฟีนและนวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์ NSD สวทช. เป็นหัวหน้าโครงการ 

รศ.ดร.รจนา พรประเสริฐสุข

รศ.ดร.รจนา พรประเสริฐสุข คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 วัสดุจากการรีไซเคิลแบตเตอรี่อัลคาไลน์และแบตเตอรี่สังกะสี-คารบอนสำหรับประยุกต์ใช้เป็นขั้วอิเล็กโทรดของแบตเตอรี่สังกะสีไอออน กล่าวว่า การนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่มี 2 รูปแบบคือการแยกโลหะออกมาโดยใช้น้ำ และใช้ความร้อน ซึ่งภายใต้งานวิจัยนี้จะใช้น้ำแยกสังกะสีและแมงกานีสไดออกไซด์ที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ แม้จะไม่ใช่กระบวนการใหม่ แต่จุดเด่นของงานวิจัยคือการต่อยอดกระบวนการรีไซเคิลให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่พร้อมใช้งานเป็นแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่เรียกว่า “แบตเตอรี่สังกะสีไอออน” มีคุณภาพคล้ายแบตเตอรี่อัลคาไลน์แต่สามารถอัดประจุซ้ำได้มีประสิทธิภาพการใช้งานสูงกว่า ช่วยลดขยะแบตเตอรี่

“ปัจจุบันเรากำลังพัฒนาอยู่ในห้องปฏิบัติการโดยมีความร่วมมือกับบริษัทสยามฟิกซ์ จำกัด ที่มาให้คำปรึกษาในมิติของการขยายผลในภาคอุตสาหกรรม เพื่อความคุ้มทุนและคุ้มค่ามีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศด้วย” 

ขณะที่ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ หัวหน้าโครงการย่อยที่ 2 คาร์บอนรูพรุนขนาดนาโนจากวัสดุเหลือทิ้งชีวภาพสำหรับประยุกต์ใช้เป็นขั้วอิเล็กโทรดของแบตเตอรี่สังกะสีไอออน นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยกราฟีนและนวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์ NSD สวทช. เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีซากสารชีวภาพที่เกิดจากกระบวนการทางการเกษตรที่เหลือทิ้งจำนวนมาก ส่วนใหญ่ถูกเผาทำลายและเกิดมลพิษ pm 2.5 จึงมีการวิจัยโดยเลือกวัสดุที่มีคาร์บอนสูง เช่นกากกาแฟ กะลาปาล์ม ซึ่งมีโครงสร้างรูพรุนคุณภาพดี นำมาใช้ในระบบแบตเตอรี่เพื่อช่วยกักเก็บประจุไฟฟ้า

ดร.ศิวรักษ์ กล่าวว่า ทั้ง 2 โครงการเป็นเรื่องของการรีไซเคิลขยะที่ล้วนก่อมลพิษในสิ่งแวดล้อม นำกลับมาใช้ใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับ BCG economy  ทั้งBio economy /Circular economy / Green economy ใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดการทิ้งและมลพิษในขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง และมั่นใจว่าในอนาคตจะสามารถสร้างความคุ้มท่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างแน่นอน  ซึ่งจากการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการจะนำไปสู่การสร้างโรงงานต้นแบบในปี 2565 เพื่อผลิตแบตเตอรี่ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก นำเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยไปขยายต่อในระดับอุตสาหกรรม หากทำสำเร็จจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในการจัดการกับขยะแบตเตอรี่ชนิดถ่านไฟฉายได้เป็นอย่างมาก

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *