ข่าว

แชร์ต้นแบบ โครงการวิจัยสุขภาพและการแพทย์ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. ก้าวสู่การผลิตเพื่อใช้จริง พร้อมมาตรฐานระดับโลก (ตอนที่ 2)

เพื่อให้เห็นถึงผลลัพธ์ในการสนับสนุนทุนให้กับ โครงการวิจัยสุขภาพและการแพทย์ ของ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข. ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ที่ปรึกษาและอดีตประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข. ได้หยิบยกเอาต้นแบบโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. และประสบความสำเร็จในการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้มาตรฐาน และสานต่อสู่ความร่วมมือกับภาคเอกชน เดินหน้าสู่การผลิตเพื่อใช้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยาชีววัตถุ Pegfilgrastim กระตุ้นเม็ดเลือดขาว สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด Biologic API ตัวแรกในประเทศไทย

Pegfilgrastim เป็นยาชีววัตถุคล้ายคลึง PEG-GCSF ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน อย. สำหรับกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยเป็น Biologic API ตัวแรกในประเทศไทยพัฒนาผลิตตั้งแต่ TRL1-9 (API จนถึง Biolosimilar) และเป็นยาที่ได้รับการคิดค้นด้วยเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยมหิดล และส่งต่อมาที่ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จึงถือได้ว่าเป็นยาที่คิดค้นโดยนักวิจัยทางการแพทย์ไทยและส่งไปผลิตเป็นยาที่บริษัทผู้ผลิตยาสัญชาติไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่แท้จริง

Meticuly กระดูกเทียมไทเทเนียมและแผ่นปิดกะโหลกเทียมไทเทเนียมรายแรกของประเทศไทย บุกตลาดได้ทั่วโลก

Meticuly คือ บริษัทผู้ผลิตกระดูกเทียมไทเทเนียมและแผ่นปิดกะโหลกเทียมไทเทเนียมรายแรกของประเทศไทย ที่เป็นเจ้าของการออกแบบและกระบวนการผลิตกระดูกเทียมไทเทเนียม ตลอดจนแผ่นปิดกะโหลกเทียมไทเทเนียมสำหรับผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดปิดกะโหลก ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO และ USFDA ซึ่งเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับแพทย์และผู้ป่วยทุกท่านได้ว่า สิ่งที่ท่านได้รับเป็นกระดูกเทียมไทเทเนียมจากฝีมือคนไทยที่มีคุณภาพสูงสุดในระดับสากล และเป็นทางเลือกในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยอย่างแท้จริง

โดย Meticuly เข้ามาขอทุน บพข. ด้วยจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะขอรับทุนไปเพื่อดำเนินการขอจดทะเบียนที่ต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก เพราะ Meticuly คือ กระดูกเทียมไทเทเนียมและแผ่นปิดกะโหลกเทียมไทเทเนียมที่ต้องลงทะเบียนแบบชิ้นต่อชิ้น โดยที่ผ่านมา Meticuly ได้ใช้เงินทุน บพข. ไปเพื่อจดทะเบียนได้สำเร็จ ทั้งที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และตอนนี้ได้ไปตั้งบริษัท Meticuly Corporation ที่สหรัฐอเมริกา

และวันนี้ บพข. ได้เป็นตัวกลางประสานให้ Meticuly ไปเชื่อมโยงความร่วมมือกับ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้ง หน่วยการแพทย์ครบวงจรที่จุดการรักษา (point-of-care) ของการผลิต Implantable Medical Device แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อติดตั้งระบบการแพทย์ครบวงจรที่จุดการรักษา ด้วยกระบวนการออกแบบการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิทัลและผลิตเครื่องมือแพทย์เฉพาะบุคคล ด้วยไทเทเนียมจากการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) และอุปกรณ์โมเดลที่ช่วยในการออกแบบการผ่าตัดในลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์และกระบวนการที่ผ่านมาตรฐานสากลแล้ว และ point-of-care นี้ยังใช้ทดสอบระบบการแพทย์ครบวงจรที่จุดการรักษา ด้วยข้อกําหนดตามมาตรฐานสากลของระบบคุณภาพให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิผลและความปลอดภัยต่อผู้ป่วยอีกด้วย

โดยความสำเร็จของโครงการนี้ จะช่วยให้โรงพยาบาลลดต้นทุนการซื้อเครื่องมือแพทย์เฉพาะบุคคลในระยะยาว และการสร้างระบบการแพทย์ครบวงจรที่จุดการรักษายังช่วยเพิ่มโอกาสที่โรงพยาบาลจะคิดค้นวิธีการรักษาและผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงโรงพยาบาลจะสามารถต่อยอดเทคโนโลยีให้เกิดแพลตฟอร์มสำหรับการพิมพ์วัสดุทางการแพทย์ เช่น Soft-tissue printing สำหรับผู้ป่วยในหลายสาขาในอนาคตภายในระบบนิเวศของโรงพยาบาลเองอีกด้วย

โครงการ การวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตชุดตรวจ SAR-CoV-2 ด้วยวิธี Realtime RT-PCR นวัตกรรมช่วยชาติพ้นวิกฤตโควิด

ในปี 2563 ประเทศไทยสามารถผลิตชุดตรวจ SAR-CoV-2 ด้วยวิธี Realtime RT-PCR เพื่อใช้ในประเทศได้สำเร็จ และในปี 2564 หลังจากที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ licensing ให้กับ บริษัท Siam Bioscience จำกัด ก็สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ COVITECT ใช้ในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าชุดตรวจ SAR-CoV-2 ช่วยชาติประหยัดงบประมาณได้ถึง 800 ล้านบาท โดยต้นทุนการผลิตของชุดตรวจที่ผลิตในไทยนี้อยู่ภายใต้ต้นทุนไม่เกิน 200 บาทต่อหนึ่งชุดตรวจ จึงสามารถแข่งขันกับชุดตรวจที่นำเข้าจากประเทศจีนได้

และที่เราควบคุมต้นทุนการผลิตได้นี้ ก็เพราะ บริษัท Siam Bioscience สามารถผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในการตรวจ Covid เอง จึงสามารถทดแทนการนำเข้าเอนไซม์จากจีนซึ่งในตอนที่โควิดระบาดมีความยากลำบากในการที่จะส่งเอนไซม์เข้ามาในไทย และการผลิตชุดตรวจ COVITECT นี้ไม่ได้ใช้เฉพาะที่ประเทศไทยแต่ได้ส่งไปให้ประเทศในอาเซียนใช้ถึง 8 ประเทศ

โรงงานต้นแบบสกัดสารสมุนไพร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับความสำเร็จในการผลิตสารสกัดใบกระท่อม กระจายรายได้สู่วิสาหกิจชุมชนได้จริง

พืชกระท่อม เป็นพืชสมุนไพรไทยที่มีมูลค่าสูง และในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ก็ปลูกกระท่อมกันอยู่แล้ว ดังนั้นโครงการจัดตั้งโรงงานต้นแบบสกัดสารสมุนไพร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงสามารถช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ใบกระท่อม ยังมีสรรพคุณสำคัญเป็นยาถอนพิษยาเสพติด ดังนั้น บพข. จึงเดินหน้าโปรเจกต์การจัดตั้ง โรงงานต้นแบบสกัดสารสมุนไพร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยนอกจากจะสนับสนุนทุนแล้ว ยังส่งผู้เชี่ยวชาญหลายด้านไปช่วย ทั้งภาครัฐและเอกชน และเมื่อสร้างโรงงานเสร็จก็ขอมาตรฐาน GMP และดำเนินการจัดตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสงขลา ซึ่งสร้างเสร็จภายในปีเดียว และโรงงานนี้ยังได้มาตรฐาน ISO9001 ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. ด้วย

ทั้งนี้ บพข. ยังสนับสนุนให้กับนักวิจัย เพื่อไปสร้างเครือข่ายกับชุมชนที่ปลูกใบกระท่อมในภาคใต้ ทำให้เกิดระบบควบคุมการผลิตไม่ให้มียาฆ่าแมลง เชื้อราต่างๆ ดังนั้นวัตถุดิบที่ได้จึงผ่านมาตรฐาน GAP ชุมชนผู้ปลูกกระท่อมจึงสามารถทำสารสกัดใบกระท่อมส่งขายและได้ราคาสูง แทนที่จะส่งใบกระท่อมที่เป็นวัตถุดิบเหมือนเมื่อก่อนที่มีรายได้ต่ำกว่ามาก

ผลิตภัณฑ์วัสดุทดแทนกระดูก M-Bone สำหรับปิดฟันที่เป็นรู มาตรฐาน ISO10993

เป็นโครงร่างทดแทนกระดูก ผ่านการทดสอบการเข้ากันได้ทางชีวภาพตามมาตรฐาน ISO10993 ใช้ปิดฟันที่เป็นรู ทำให้กระดูกที่โตขึ้นมาใหม่โตขึ้นมาบนแผ่นโครงร่างทดแทนกระดูก โดยโครงการนี้มีองค์กรที่รับทำวิจัยตามสัญญา (CRO) เป็นผู้ดำเนินการวิจัยทางคลินิกภายใต้การปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี (ISO 14155: GCP) ที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผลผลิตของโครงการ ณ ปัจจุบัน อยู่ในขั้นการขออนุญาตผลิตเพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

สำหรับการใช้ประโยชน์จากผลงานในปัจจุบัน มี บริษัท ออสไฮดรอกซี จำกัด เป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี และเริ่มจำหน่ายครั้งแรกในปี 2562 และมีการนำไปใช้ในการรักษาทางคลินิกมากกว่า 1700 กล่อง โดยโรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรม เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์, ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่, คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์, โรงพยาบาลขอนแก่น, โรงพยาบาลสระบุรี, โรงพยาบาลชลบุรี , โรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลพัทลุง

และด้วยแนวทาง Open Innovation ทาง บพข. ได้แนะนำให้ทีมนักวิจัยในโครงการนี้ ส่งผลิตภัณฑ์วัสดุทดแทนกระดูกสำหรับการศึกษาวิจัยทางคลินิก วัสดุทดแทนกระดูก M-Bone นี้ไปตรวจมาตรฐานในต่างประเทศ (ประเทศอินเดีย) ต่อไป

“Clinixir” Clinical Research Organization (CRO) end-to-end solutions for all clinical research needs in Thailand

เป็นโครงการ Sandbox ที่ทาง บพข. ร่วมมือกับ Bangkok bank ประสานนำโรงเรียนแพทย์ 6 มหาวิทยาลัย ที่ประกอบด้วย 8 คณะแพทย์ มาระดมสมองกันเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาให้กับ Clinical Research ที่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอน Clinical Trial ถึงจะถึงมาตรฐานสากล ดังนั้นเราต้องมีหน่วยงานทดสอบที่จัดตั้งเป็นบริษัท เพื่อเปิดให้ งานวิจัยทางการแพทย์เหล่านี้มาทำ Clinical Trial มิเช่นนั้น ก็จะขายไม่ได้

การจัดตั้ง Clinixir จึงเกิดขึ้น โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่ ASIA Building โดยที่ผ่านมาบริษัทนี้ได้ทำ Clinical Trial ให้กับหลายโปรเจกต์ ซึ่งการทดสอบที่นี้ได้รับการยอมรับ มีมาตรฐานสากล ดังนั้น ถ้าผ่านการทดสอบที่นี่ได้ ทาง อย. ก็ยอมรับ และการที่ Clinixir ได้รับเงินทุนจาก บพข. ต่อเนื่อง เพื่อช่วยในการจัดตั้งบริษัท และช่วยในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก บพข. ก็ถือเป็นเรื่องยากที่คลินิเซอร์จะปักหมุด CRO สัญชาติไทยได้

เครือข่ายความร่วมมือศูนย์พัฒนาชุดตรวจโรค สร้างมาตรฐาน รับรองคุณภาพยกระดับชุดตรวจโรคของไทย

ที่ผ่านมาประเทศไทยผลิตชุดตรวจเยอะมากแต่ไม่เคยขายได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดอบรมเกี่ยวกับระบบมาตรฐานของกระบวนการผลิตชุดตรวจและเครื่องมือแพทย์ และการพัฒนาซอฟต์แวร์เครื่องมือแพทย์ ควบคู่กับการปรับเอาแนวคิดการสร้าง Hub & Spoke ในแต่ละมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ตั้งศูนย์ ก็จะสร้างห้องปฏิบัติการพิเศษ เช่นที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็จะทำ Diagnostic ที่เป็น Antibody มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็จะเป็น Bio-sensor และระหว่างห้องปฏิบัติการก็จะมีการร่วมมือกันเพื่อใช้ Facility กันในลักษณะของเครือข่าย และในที่สุด เราก็จะได้ชุดตรวจต่างๆ ที่ได้มาตรฐานของ อย.

โดยที่ผ่านมามีผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นได้เพราะการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือศูนย์พัฒนาชุดตรวจโรค คือ “ผลิตภัณฑ์ชุดแถบทดสอบสำหรับตรวจคัดกรองโปรเจสเทอโรนในซีรัมของสุกร (Progesterone Strip Test) ที่คิดค้นขึ้นเพื่อเตรียมสุกรสาวให้มีประสิทธิภาพ” เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลูกสุกรโดยใช้ชุดแถบทดสอบตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน ทำให้ทราบภาวะการตกไข่ของสุกรสาว ชุดทดสอบนี้พัฒนาสำหรับสัตวแพทย์และสัตวบาลที่ดูแลฟาร์มสุกรได้ใช้เป็นอุปกรณ์พกพาสะดวกในการตรวจวินิจฉัยสุกรสาวที่ไม่แสดงอาการเป็นสัด ทำให้สามารถจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดจำนวนวันการสูญเสียในการเตรียมสุกรสาวทดแทน และเพิ่มสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ในสุกร

ปัจจุบัน ได้มีการผลิตภัณฑ์ชุดแถบทดสอบสำหรับตรวจคัดกรองโปรเจสเทอโรนในซีรัมของสุกรที่ได้รับการรับรองจดแจ้งหมายเลขใบรับจดแจ้งที่ 65-1-3-3-0000119 จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565

การใช้ประโยชน์จากผลงาน ณ ปัจจุบัน/ ผู้ใช้ประโยชน์จากผลงาน บริษัท อินเตอร์เว็ท (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือของบริษัท MSD Animal health ได้มอบหมายให้ศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตชุดแถบทดสอบ เพื่อสนับสนุนการกระจายการใช้ผลิตภัณฑ์และสาธิตการใช้ได้จริงให้แก่เกษตรกรทั้งในและนอกประเทศกว่า 8 ประเทศ ที่แสดงผลการจัดการฟาร์มสุกรได้อย่างเหมาะสมและคุ้มทุนมากขึ้น

ดังนั้นโครงการวิจัยนี้ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าเป็นโครงการวิจัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลไกของ บพข. แล้วสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกไปขายได้ นอกจากนั้นเป็นการพิสูจน์แนวคิดของการทำ Open Innovation ที่ไม่จำเป็นต้องมีการให้ห้องแล็บแก่ทุกสถาบัน ทั้งที่บางครั้งห้องแล็บนั้นก็เหมือนกัน และใช้ร่วมกันได้

แพลตฟอร์มมาตรฐานสำหรับการรักษาด้วยเทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัดเพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์

เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มมาตรฐานสำหรับการรักษาด้วยเทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัดเพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์ โดยแบ่งเป็นงานวิจัยทางคลินิกสาหรับผลิตภัณฑ์ Anti-CD19 CAR T-cell และการพัฒนาโรงงานผลิต Vector ผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Acute Lymphoid Leukemia (ALL) ในโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเซลล์และยีนบำบัดที่ได้มาตรฐาน GMP ของบริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด (เป็นบริษัท spin off Company ที่แยกออกมาจาก คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ Investigation New Drug หรือ IND กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย และดำเนินการทดสอบ Clinical Trial ได้

โดยผลิตภัณฑ์นี้จะถือเป็นยากลุ่มเซลล์และยีนบำบัดตัวแรกที่ได้รับการรับรองจาก อย. ประเทศไทย และเป็นยากลุ่มเซลล์และยีนบำบัดตัวแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

เพราะการรักษาด้วยวิธีเซลล์และยีนบาบัด (Cell & Gene Therapy) เป็นวิธีการรักษาที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ ไม่ตอบสนองต่อการรักษารูปแบบเดิมหรือมีอัตราการหายต่ำ ซึ่งได้รับการยืนยันในปัจจุบันถึงผลสำเร็จในการพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพสูง และได้รับการรับรองในต่างประเทศ ให้ใช้เป็นมาตรฐานในการรักษาโรคบางชนิดเช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย

อย่างไรก็ตามเนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตยาในกลุ่มเซลล์และยีนบาบัดเองได้ การรักษาด้วยวิธี CAR T-cell therapy ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง ราคาถึง 12 ล้านบาทต่อการรักษาหนึ่งครั้ง ทำให้ยากต่อการเข้าถึงสำหรับผู้ป่วยในประเทศ

ทีมวิจัยของ ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และบุคลากรที่พร้อมสำหรับการนำเทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัด โดยเฉพาะ CAR T-cell therapy จึงได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์มารักษาโรคมะเร็งบางชนิดในราคาที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศ และพัฒนาแนวทางสำหรับภาคเอกชนในประเทศไทยที่จะนำผลิตภัณฑ์ มาใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยภายในประเทศและภูมิภาคด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง และให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น


ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ที่ปรึกษาและอดีตประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข.

แชร์มุมมอง ความท้าทายของไทยกับการเพิ่มขีดความสามารถให้โครงการงานวิจัยของประเทศชาติ เดินหน้าไปสู่การผลิตเพื่อใช้จริง

“จากต้นแบบโครงการวิจัยที่ บพข. ให้การสนับสนุนที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากขั้นตอนการกำหนดและนำหลักการ TRL4-7 มาใช้ เพื่อวางแนวทางการพัฒนาโครงการวิจัย เพิ่มขีดความสามารถให้ออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง และ บพข. ยังมีบทบาทสำคัญนอกเหนือจากการให้ทุนแล้ว ยังเป็น พี่เลี้ยง ให้กับผู้ได้รับทุนในหลากหลายด้าน เช่น การช่วยผู้ได้รับทุนในการขึ้นทะเบียน อย. ให้คำปรึกษาเพื่อให้มีการขยายธุรกิจได้ในฐานะสตาร์ทอัพ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับแผน Deep Science and Technology Acceleration Platform” ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของ บพข. พร้อมกล่าวต่อว่า

“นอกจากนั้น ถ้ากล่าวในบริบทของการสร้างอีโคซิสเตม ต้องยอมรับว่าคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าการสร้างอีโคซิสเตม คือ การให้เงินไปสร้างห้องปฏิบัติการ ซึ่งทำให้ในตอนนี้มี “สุสานเครื่องมือ” จำนวนมาก”

“อย่างไรก็ดี การสร้างอีโคซิสเตมที่แท้จริง คือ การสนับสนุนให้คนมีศักยภาพในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประโยชน์สูงสุดต่างหาก ดังนั้น การที่จะช่วยเป็น “พี่เลี้ยง” หรือการ Nurture คน ให้เขาได้เรียนรู้ในเรื่องสำคัญ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา หรือช่วยผู้ได้รับทุนในการทำสัญญา ช่วยในเรื่องการทำสตาร์ทอัพ นี่คือ อีโคซิสเตม ที่เหมาะสม ที่ บพข. พยายามที่จะสร้างขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ผลงานวิจัยของคนไทยได้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ และก้าวสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานสากล”

“และถ้าจะให้กล่าวถึงความท้าทายของไทยในการก้าวสู่การเป็น Medical Hub แห่งภูมิภาค เราคงต้องเริ่มจากการยอมรับในจุดอ่อนที่เราต้องปรับปรุงก่อน นั่นคือ

หนึ่ง คือ การทำงานร่วมกัน การแบ่งปัน การแชร์ Vision & Value ร่วมกัน ยังมีน้อย เพราะต่างคนก็ต่างจ้องที่จะบอกว่านี่เป็นผลงานของเรา จนลืมไปว่าสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าคือผลงานหรือผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จและสามารถนำไปใช้ผลิตเพื่อใช้งานจริง

สอง คือ การออกกฎเกณฑ์เพื่อลดมาตรฐานลง เพราะเรากำลังทำยา เครื่องมือแพทย์ ไปจนถึงชุดตรวจที่ต้องนำไปใช้เกี่ยวข้องกับชีวิตคน เราจึงย่อหย่อนในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานอย่างเด็ดขาด ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ดังนั้นทุกขั้นตอนจึงต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานสูงสุด

สาม ทุกภาคส่วนต้องรู้จักการแบ่งปัน Facility เช่น ห้องปฏิบัติการ โรงงานต้นแบบต่างๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ยังเน้นย้ำถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อให้ทุนสนับสนุนของ บพข. ว่า “เราไม่ได้มองหาคนเก่งเพื่อให้ทุนเท่านั้น นักวิจัยทั่วไปที่ยื่นเรื่องมาขอทุนทุกคน เราให้ความเท่าเทียม และยินดีที่จะเป็นที่ปรึกษาให้ในทุกด้าน และพร้อมทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัยของประเทศชาติไปสู่การผลิตเพื่อใช้จริง ซึ่งสามารถยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศได้อย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ที่ปรึกษาและอดีตประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข.

และในส่วนของภาครัฐควรต้องลงทุนเพิ่มในหลายด้านต่อไปนี้ด้วย

หนึ่ง ต้องสร้าง Translation Research Center เพราะในบริบทของประเทศไทย เราไม่มีงบประมาณที่จะให้ได้ทุกคน ทุกหน่วยงาน ดังนั้นจึงต้องทำ Hub & Spoke ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลาง สร้าง Center ขนาดใหญ่ที่มีคนเก่ง ยกตัวอย่าง ในประเทศอังกฤษ จะมีหน่วยงานที่ชื่อ Catapult ซึ่งมองว่าในประเทศไทยควรมีหน่วยงานแบบนี้ โดยโมเดลนี้จะมีแนวทางสำคัญ เริ่มจากการมองว่ามหาวิทยาลัยใด เก่งด้านไหน และหน่วยงานสนับสนุนทุนก็จะให้เงินทุนเพื่อให้มหาวิทยาลัยนั้นสร้าง Center สำหรับ TRL4-7 ขึ้นในด้านนั้นๆ และทุกคนที่ทำโปรเจกต์เก่งๆก็จะทำงานโดยร่วมมือกับ Center เหล่านี้เพื่อผลักดันให้ผลงานคิดค้นนั้นออกไปสู่ภาคอุตสาหกรรมได้

สอง ควรทำ Testing Facility ให้เกิดขึ้นประเทศไทย เพื่อให้นักวิจัย ผู้ประกอบการ ส่งผลิตภัณฑ์ ผลงานของตนไปทดสอบ หรือ Test ได้

สาม ควรเกิดการทำงานในรูปแบบของคลัสเตอร์ ที่เป็นการรวมกลุ่มเครือข่ายมหาวิทยาลัย นักวิจัย ตลอดจนภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชนต่างๆ ที่เก่งในเรื่องนั้นๆ เช่น คลัสเตอร์การแพทย์ คลัสเตอร์เซมิคอนดักเตอร์ คลัสเตอร์ EV เป็นต้น

สี่ ภาคการศึกษาควรเปิดหลักสูตรที่ร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะนำสู่การพัฒนา TRL4-7 ก็อยู่ทั้งในส่วนของภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น หลักสูตรที่เปิดสอนจึงต้องมีการปรับเอาโมเดลของวิทยาลัยเทคนิคที่ประเทศเยอรมนีมาใช้ โดยส่งคนเข้าไปเรียนรู้ในภาคอุตสาหกรรม และใช้แนวคิด Talent Mobility ในการขับเคลื่อน

ขณะเดียวกัน บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมก็สามารถมาเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมในมหาวิทยาลัยได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจต่อยอดให้เกิด Spin in Company คือการที่ภาคเอกชนมาเปิดภาคการผลิตที่มหาวิทยาลัยเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในภาคการผลิตจริงในมหาวิทยาลัย โดยในต่างประเทศอาจมีการจัดตั้งเป็นบริษัทลูกในมหาวิทยาลัยก็ได้

“นอกจากนั้น ข้อเสนอเพิ่มเติมที่อยากฝากไว้ คือ อยากให้ทาง BOI ขยับขยายภารกิจการส่งเสริมการลงทุนมาในส่วนของ TRL4-7 มากขึ้น โดยทำให้เกิดความยืดหยุ่นในข้อกำหนดของทาง BOI ที่ไม่ได้มุ่งแค่การสนับสนุนไปทางภาคอุตสาหกรรมตรงอย่างเดียว แต่ในระหว่างทาง ถ้ามีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ใน TRL4-7 ก็ควรมีการสนับสนุนด้วย”

“และทาง BOI ควรช่วยผู้ประกอบการในการลดภาษีที่เป็น Raw Material สำคัญต่างๆ เช่นในทางการแพทย์ เราใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง หรือ Disposable Plastic จำนวนมาก และมีภาษีพลาสติกสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้า BOI สามารถลดภาษีให้กับผู้ที่ทำการผลิต Disposable Plastic ลงได้ (จากเดิมจ่ายอยู่ 30 เปอร์เซ็นต์) ก็ย่อมช่วยทางภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุนได้ด้วย”

“ในส่วนของการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ทาง บพข. ได้มุ่งเน้นการสนับสนุนให้นักวิจัยทางการแพทย์ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ทั้งในรูปแบบของการทำงานกับ Multi-National Company ซึ่งจะเปิดโอกาสให้อาจารย์และนักวิจัยเข้าไปเรียนรู้ในภาคการผลิตจริงได้ และในอีกด้านหนึ่ง ถ้าอาจารย์และนักวิจัยได้ไปทำงานกับ SME ก็จะต้องไปช่วยคิด ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งก็จะได้รับประสบการณ์คนละแบบกัน และต้องยอมรับว่าในบริบทของประเทศไทย จะมี SME จำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาควิชาการ อาจารย์หรือนักวิจัย ให้ไปทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาและยกระดับธุรกิจ โดยทางมหาวิทยาลัยไทย ต้องจัดให้มี Knowledge Exchange Program ที่เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชน และด้วยโปรแกรมนี้ ก็จะสามารถช่วย SME ไทยให้เพื่อขีดความสามารถในการทำธุรกิจของตนได้มากขึ้น”

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *