ข่าว

เปิดเวที PMUC Connect ครั้งที่ 2 เจาะลึกมาตรการสนับสนุนของ บพข. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ติดสปีดให้ อุตสาหกรรมการแพทย์ไทย โตได้ต่อเนื่อง

“193 โครงการวิจัย ทุนสนับสนุนกว่า 1,700 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการขายผลิตภัณฑ์แล้ว 2,000 ล้านบาท” นี่คือตัวเลขผลงานใน 5 ปีที่ผ่านมาของ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่เกิดขึ้นได้จากการทำงานตามมาตรการสนับสนุนและยกระดับเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน อุตสาหกรรมการแพทย์ไทย

มาในวันนี้ เพื่อเป็นเวทีเน้นย้ำให้ประชาคมวิจัยได้เข้าใจถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงกันในมิติต่างๆ และสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดงาน PMUC CONNECT ครั้งที่ 2 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “บพข. และมาตรการสนับสนุนเพื่อยกระดับและ สร้างความสามารถในการแข่งขัน อุตสาหกรรมการแพทย์ไทย”

โดยในโอกาสนี้ มี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข., ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ที่ปรึกษาแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข. และ รศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ รองประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข. มาเป็น Key persons ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งในเรื่องของที่มาและความสำคัญของโครงการ PMUC Connect บทบาทและหน้าที่ของ บพข. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุน และความสำคัญของการขอรับมาตรฐานในนวัตกรรม งานวิจัย ด้านสุขภาพและการแพทย์ นอกจากนั้น ยังมี Speakers ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ในฐานะผู้รับทุนจาก บพข. และการพัฒนาธุรกิจเพื่อก้าวสู่ตลาดโลกให้ฟังกันด้วย


รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

บทบาทสำคัญของ บพข. กับการ Connect ทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับ อุตสาหกรรมการแพทย์ไทย สู่เส้นทาง Commercialization

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้กล่าวในพิธีเปิดงาน PMUC Connect ครั้งที่ 2 ว่า

“ครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งที่สองของ บพข. ในการจัดงานตามโครงการ PMUC Connect ซึ่งตอบสนองภารกิจของ บพข. ที่เป็นหน่วยงานภายใต้ กระทรวง อว. ที่ก่อตั้งมาแล้ว 5 ปี โดยเรามีบทบาทในการสนับสนุนหลาย Sector เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ให้ได้ เป็นภารกิจสำคัญที่ บพข. มุ่งเน้นและให้ความสำคัญ ซึ่งแนวทางการทำงานของ บพข. คือ เราต้องการจะเชื่อมทุกคน ทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม มาทำงานร่วมกัน โดยในวันนี้เราได้ใช้ Keyword “Connect” ที่เป็นส่วนสำคัญมาก และทาง บพข. มีความตั้งใจที่จะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด”

“ในการจัดงานครั้งที่สองนี้ เราต้องการเชื่อมอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งมีความสำคัญ ไม่ใช่แค่ต่อการพัฒนาประเทศ หรือมีความสำคัญในเชิงของการสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติเท่านั้น แต่มีส่วนในการช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนโดยเฉพาะในแง่ของการสร้างสุขภาพและการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย”

“ดังนั้น การขับเคลื่อนงานด้านการวิจัยและพัฒนาก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทาง บพข. ตั้งใจและต้องการให้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อทำให้งานวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพของไทยสามารถยกระดับไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ หรือ Commercialization ให้ได้ โดยหลักการที่ บพข. ในการทำงานมาโดยตลอด คือ การร่วมมือกันของหลากหลาย Stakeholders ที่จะช่วยผลักดันให้งานวิจัยหรือนวัตกรรมนั้นไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งขยายการลงทุน นำไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่สร้างมูลค่าและรายได้ให้ประเทศ”

“ตามแนวทางที่กล่าวมานี้ แน่นอนว่าปัจจัยในเรื่องของเทคโนโลยีและความพร้อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง นี่เป็นสาเหตุว่าทำไม บพข. ถึงกำหนดหลักเกณฑ์การมอบทุนสนับสนุนงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่มี ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology Readiness Level) หรือ TRL ในระดับ 4-8 ซึ่งงาน PMUC Connect ในครั้งนี้ ก็จะเป็นเวทีที่เราจะมาทำความเข้าใจและสื่อสารให้เห็นถึงความสำคัญในหลักเกณฑ์ควบคู่ไปกับให้ทุกฝ่ายเห็นถึงแนวทางที่จะใช้ในการขับเคลื่อนภารกิจนี้”

“ขณะที่ ทางฝั่งนักวิจัยและผู้ประกอบการก็จะเห็นถึงโอกาสในการนำข้อเสนอโครงการวิจัยดีๆ เข้ามาเพื่อขอรับทุน โดยเฉพาะใน Sector ที่เป็นงานวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ที่จะมีความพิเศษและแตกต่างกับงานวิจัยและนวัตกรรมด้านอื่น เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในขั้นสูง ทำให้เกณฑ์ในการพิจารณา ส่งเสริม มีความเข้มข้นมากกว่างานวิจัยในด้านอื่น”

“ส่วนบุคลากรที่ทำงานในด้านนี้ ก็ต้องมีทักษะเฉพาะทางขั้นสูง ซึ่งมีความจำเป็นต้องพัฒนาและเพิ่มศักยภาพบุคลากรเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยมีแต้มต่อในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ รวมไปถึง ทางแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข. ยังให้ความสำคัญในด้านการสร้าง Standard หรือมาตรฐาน ให้กับเวชสำอาง ยา ชีววัตถุ เครื่องมือทางการแพทย์ของไทย ที่จะใช้กับคน เพราะโดยองค์รวม เราต้องการสร้างมาตรฐานให้งานวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทยต่อไป”

“ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพที่กล่าวมาชัดขึ้น ในการจัดงาน PMUC Connect ของแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข. เราได้เชิญผู้ที่เคยได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. หรือ ผู้ที่เสนอขอทุนจาก บพข. มาร่วมงาน ที่จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์ว่ามีขั้นตอนการยื่นข้อเสนอขอรับทุนจาก บพข. อย่างไร ตั้งแต่เริ่มต้น และทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยนี้ไปสู่เชิงพาณิชย์และ Global Market หรือ ตลาดโลก ได้อย่างไร”


ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ที่ปรึกษาแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

มองความท้าทาย โอกาสและศักยภาพของ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ไทย ผ่านการสนับสนุนทุนของแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข.

ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ที่ปรึกษาแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้มาบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “ความท้าทาย โอกาสและศักยภาพของ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ไทย : บทบาทและหน้าที่ของ บพข. ในการสนับสนุน”

“ในการพัฒนางานวิจัยไปสู่ในขั้นของอุตสาหกรรม ถ้าเราใช้หลักการในการพิจารณาด้วยการชี้วัดจากระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี Technology Readiness Level หรือ TRL จะพบว่างานวิจัยที่เป็นพื้นฐานความรู้ที่นักวิจัยทำในมหาวิทยาลัย จะอยู่ที่ TRL 1-3 และยังมีโครงการวิจัยน้อยมากที่สามารถก้าวข้าม TRL 4-7 ที่เป็นการนำเอาความรู้มาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้ ขณะที่ เทคโนโลยีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ก็เป็นการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้เลย”

“ดังนั้น การพัฒนางานวิจัยไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ที่ผ่านมา จึงมักจะเจอปัญหาในช่วงของการข้ามผ่านจาก TRL3 ที่มี Lab Prototype หรือ Proof of concept แล้ว และจะพัฒนาไปสู่ TRL4-7 ซึ่งในช่วงนี้เราเรียกว่าเป็น Valley of Dead หรือ หุบเขามรณะ ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมา จึงมีความพยายามที่จะเชื่อมให้นักวิจัยไปทำงานกับภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะจริงๆ แล้ว ทางภาคเอกชนเองก็ต้องเข้ามาร่วมมือในเชิงลึกขึ้นกว่าเดิม คือ ต้องยอมลงทุนเพื่อทำงานวิจัยและเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อปูทางให้ทางภาควิชาการ นักวิจัย มาเจอกับฝั่งภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นด้วย”

“นอกจากนั้น สำหรับการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Medical Science มีความแตกต่างจากการยกระดับงานวิจัยไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ด้านอื่น เพราะเรามี Valley of Dead ถึง 2 ช่วง ช่วงแรก จะเป็นดังที่กล่าวมา คือ Technology Valley of Dead ในส่วนของการพัฒนางานวิจัยตั้งแต่ TRL4-7 ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตที่มี Clinical Trial และหลังจากนี้นี่เองที่นักวิจัยหรือผู้ประกอบการจะต้องไปเจอ Commercial Valley of Dead ซึ่งต้องผ่านไปให้ได้ ก่อนที่จะพัฒนาไป Clinical Practice หรือ Healthcare Delivery ที่เป็นการผลิตเพื่อใช้งานจริง”

“การพิจารณาเพื่อมอบทุนวิจัยของประเทศไทย จึงต้องระบุให้ได้ชัดเจนก่อนว่าเทคโนโลยีใดควรจะได้ไปต่อใน TRL4 หรือเทคโนโลยีใดควรหยุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลงทุนที่ผิดพลาด ซึ่งจะต้องพิจารณาไปที่คุณสมบัติของนักวิจัยหรือผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาต่อไปได้จริง มีเทคโนโลยีจริง และเทคโนโลยีนั้นๆ ต้องมีอายุยืนระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันต้องมีขีดความสามารถในการทำราคาที่แข่งขันได้ในตลาด”

“ด้วยความท้าทายเหล่านี้นี่เองที่ทำให้มีการจัดตั้ง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หรือ PMUC ขึ้นในปี 2562 โดยเป็นหน่วยงานหนึ่งใน กระทรวง อว. และ บพข. จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการวิจัยที่อยู่ใน TRL 4-7”

“เพราะถ้าเราดูจากต้นแบบในต่างประเทศ ในการพัฒนา ต่อยอดงานวิจัย จาก TRL 4 ไปถึง TRL 7 จะไม่ใช้กลไกของมหาวิทยาลัยเป็นตัวขับเคลื่อน แต่จะใช้รูปแบบของการทำเป็น Spin-off Company หรือเป็น Startup Company โดยอาจารย์อาจจะมาเป็น Chief Technology Officer ใน Startup Company จากนั้นจึงบริหาร Startup Company ที่มีจุดเด่นตรงมีความคล่องตัว และต่อมาอาจจะมีบริษัทใหญ่ให้ความสนใจ Startup Company โดยต้องการสนับสนุนทุนหรือซื้อกิจการ Startup Company นี้ไปก็ได้”

“ดังนั้น นอกเหนือจาก บพข. จะเกิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์หลักคือการให้ทุนแล้ว บพข. ยังมีหน่วยงานที่เชื่อมกับภาคเอกชน และเป็นหน่วยงานกลางเพื่อให้ความช่วยเหลือกับ Startup Company ด้วย โดยทาง บพข. จะสนับสนุนทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี ในรูปแบบของการเสริมความรู้ เพิ่มขีดความสามารถ หรือ Capability ให้นักวิจัยด้วย”


รศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ อดีตคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

เรื่องที่ต้องรู้ เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยทางด้านสุขภาพและการแพทย์ของ บพข. ในมุมมองของการรับรองมาตรฐาน

ด้าน รศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ อดีตคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้มากล่าวในเรื่อง “การขับเคลื่อนงานวิจัยทางด้านสุขภาพและการแพทย์ของ บพข. ในมุมมองของการรับรองมาตรฐาน” ว่า

“การจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ออกสู่เชิงพาณิชย์ได้นั้นจำเป็นต้องมีมาตรฐาน และควรได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งปัญหาสำคัญเรื่องการขอรับรองมาตรฐานของอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ไทย คือ นักวิจัยไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเรายังขาดแคลนที่ปรึกษาในประเทศไทย หรือ Regulatory Consult ในทุกมิติ ทำให้ Ecosystem ตรงนี้ยังไม่สมบูรณ์”

“ขณะที่ การจะยกระดับการผลิตในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทย จำเป็นต้องดูในส่วนของผลิตภัณฑ์ของไทยที่จะผลิตเพื่อการแข่งขันกับชาติอื่น ว่ามีศักยภาพที่จะไปทำตลาดได้จริงหรือไม่”

“นอกจากนั้น หากถามว่าทำไมต้องให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐาน ก็ต้องเน้นย้ำว่าการสร้างมาตรฐานนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ในสามเรื่อง คือ หนึ่ง เรื่องความปลอดภัย ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกเห็นตรงกันและมีข้อกำหนดที่เข้มงวด เพื่อมุ่งตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยให้ได้ สอง เรื่องประสิทธิภาพ สรรพคุณ ที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละประเทศที่อาจจะต่างกัน และ สาม คือการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง หลังจากผลิตภัณฑ์ หรือ ยา ได้ได้วางขายแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องมีกฎหมาย การบังคับใช้ เข้าไปจับอย่างชัดเจน”


แชร์ประสบการณ์ขอรับทุนจาก บพข. บนเส้นทางการพัฒนาและยกระดับงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

ต่อมา เป็นการประสบการณ์ในการขอรับทุนจาก บพข. เพื่อพัฒนาและยกระดับงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ จากนักวิจัยที่มีผลงานเด่นในด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้ประชาคมวิจัย ผู้ที่สนใจเสนอขอรับทุนจาก บพข. มีความเข้าใจและได้รับแรงบันดาลใจจากทั้งนักวิจัยและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้

รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่วงศ์วัฒน จาก บริษัท เมติคูลี่ จำกัด ซึ่งทำการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการซ่อมแซมกระดูกบนใบหน้าคนไข้ด้วยกระบวนการออกแบบการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิทัลและการผลิตเครื่องมือแพทย์เพื่อเสริมสร้างโครงหน้าคนไข้ด้วยไทเทเนียมจากการพิมพ์สามมิติเพื่อการส่งออก ได้กล่าวบนเวทีว่า

“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาได้ไปขอทุนสนับสนุนในงานวิจัยจากหลายหน่วยงาน และเข้าสู่ระบบการระดมทุน เพราะเราเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ แต่ก็เจอกับอุปสรรคหลายด้าน ทั้งต้องมีการวางแผนในการขอสิทธิบัตร มีการวาง IP Strategy ที่ดี ซึ่งในตอนนั้นรู้สึกเลยว่าการทำธุรกิจเป็นเรื่องยาก และยิ่งเมื่อเป็นสตาร์ทอัพ เราไปขอทุนจากหลายที่ โดยบางที่ก็เสนอที่จะให้ทุนทำ Marketing ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ขณะที่บางแห่งก็ใช้เวลาในการพิจารณานาน ส่งผลต่อการวางแผนทำธุรกิจของเราแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น มองว่า การทำงานของแหล่งสนับสนุนทุนก็ต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับ Life cycle ของสตาร์ทอัพด้วย”

“แต่สำหรับ บพข. เป็นหน่วยงานให้ทุนที่พิจารณาได้เร็วมาก และในการขอสนับสนุนทุน เราจะได้รับคำถามจากอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ตั้งคำถามเพื่อให้เราได้ไปหาคำตอบที่ท้าทายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ก็จะได้รับคำแนะนำที่มากซึ่งสามารถนำไปรับใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจได้ พูดได้เลยว่า บพข. เป็นมิติใหม่ของหน่วยงานหรือแหล่งสนับสนุนทุนในประเทศไทยก็ว่าได้”

ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร จาก บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ที่พัฒนาโครงการต่อยอดการแพทย์ครบวงจรที่จุดการรักษา ด้วยกระบวนการออกแบบการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิทัลและการผลิตเครื่องมือแพทย์เฉพาะบุคคลด้วยไทเทเนียมจากการพิมพ์สามมิติที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ แชร์ประสบการณ์เพิ่มเติมว่า

“ในการพัฒนา Medical Device ขึ้นสักหนึ่งชิ้น เป็นภารกิจที่ต้องใช้เวลา แต่การได้ส่งข้อเสนอขอสนับสนุนทุนจาก บพข. และได้ทำงานร่วมกับ บพข. ทำให้เราเห็นเป้าหมายของการส่ง Medical Device นั้นไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ชัดขึ้น เร็วขึ้น เพราะอย่างที่ทราบว่าระหว่างทางการพัฒนานั้นมี Valley of Dead ที่ข้ามได้ไม่ง่ายเลย แต่การทำงานกับ บพข. ทำให้เราเห็นภาพว่าหน้าตาของผลิตภัณฑ์ที่เราจะพัฒนาไปสู่การผลิตเพื่อใช้จริงนั้นเป็นอย่างไร”

“อย่างของ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด เรามีความตั้งใจว่าจะเป็นบริษัทขายเครื่องมือแพทย์ในระดับสากล นั่นหมายถึงเราไม่ได้คาดหวังจะตีตลาดแค่ในประเทศ แต่เราคาดหวังและมีความกล้าที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์นี้ให้คนทั้งโลกได้ใช้ ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายตรงนี้ได้ มาตรฐาน มีความสำคัญอย่างมาก เราจึงมุ่งมั่นที่จะผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ปลอดภัย (Safety) และมีประสิทธิภาพ (Efficiency) ซึ่งถ้าทำได้ เราย่อมสามารถเอาผลิตภัณฑ์นี้เข้าไปตีตลาดโลกได้ และนั่นเท่ากับว่าคนไทยเองก็จะได้ใช้เครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากลด้วย”

“เพราะในระหว่างกระบวนการขอสนับสนุนทุน หรือเมื่อได้รับทุนแล้ว ก็จะมีการแนะนำจากคณะอนุกรรมการแผนงานฯ ของทาง บพข. ว่าระหว่างทางที่เราจะไปสู่ตลาดสากลนั้น จะต้องมีมาตรฐานอะไรที่เราต้องทำให้ผ่านบ้าง เพื่อให้เราได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนในแต่ละประเทศที่เราส่งเครื่องมือแพทย์ไปจำหน่ายได้”

“และอีกประเด็นสำคัญคือในเรื่องของ IP หรือ Intellectual Property นักวิจัยด้านการแพทย์จะรู้ดีว่า เมื่อเราคิดค้นอะขึ้นได้ แม้จะภูมิใจและอยากบอกต่อถึงความสำเร็จนี้ขนาดไหน ก็จำเป็นต้องเก็บไว้ก่อน เพราะเราต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบก่อนว่าสิ่งที่เราคิดค้นขึ้นนั้น ไปเหมือนกับใครที่เคยได้คิดค้นไว้หรือไม่ ถ้าพบว่าไม่มีก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการปรับเอาหลักเกณฑ์ในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญามาใช้อย่างเหมาะสมต่อไป”

“นอกจากนั้น ยังมีสิ่งหนึ่งที่หลายคนยังเข้าใจผิด คือ แม้เราจะมีสิทธิบัตร แต่เราอาจไม่มี Freedom to Operate ก็ได้ และสุดท้าย เราอาจไปติดอยู่ที่ Valley of Dead ที่ 2 คือไม่สามารถผลิตเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่อยากฝากถึงนักวิจัย ผู้ประกอบการหลายท่าน”

ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่พัฒนาโครงการต้นแบบแบบห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในภาคใต้ของประเทศไทย กล่าวว่า

“จากการทำงานวิจัยมา เราเห็นชัดว่าสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้งานวิจัยนั้นสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้จริงนั้นจำเป็นต้องมีมาตรฐาน เพราะถ้าจะเอาความรู้ที่มีไปวินิจฉัยโรค ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการวินิจฉัย Rare Disease หรือ โรคมะเร็ง ซึ่งสิ่งที่ต้องทำ คือ ทำให้การวินิจฉัยนั้น เอาไปใช้ในทางการแพทย์ได้”

“โดยมาตรฐานแรกที่ทำคือ ISO 15189 และหลังจากได้ Prototype มา เราก็อยากต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ต่อ ซึ่งในตอนนั้นก็ได้มาปรึกษากับหน่วยงานสนับสนุนทุนอย่าง บพข. โดยเรายื่นข้อเสนอไป 2 ครั้งแรก แต่ยังไม่ผ่าน และผ่านได้ในการยื่นครั้งที่สาม นอกจากนั้น สิ่งที่เราได้รับตั้งแต่การยื่นข้อเสนอไปในครั้งแรก คือ คำแนะนำที่ดีมาก”

“เพราะ บพข. ไม่เหมือนแหล่งทุนที่อื่น ที่เมื่ออ่าน Proposal ก็ปัดตกไป หรือปฏิเสธมาแบบตรงๆ แต่ บพข. เป็นหน่วยงานสนับสนุนทุน ที่มีบทบาทในการ “สนับสนุน” และ “เป็นที่ปรึกษา” สูงมาก โดยท่านผู้ทรงคุณวุฒิในอนุกรรมการฯ ก็จะให้คำแนะนำที่ดี ที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อปรับแก้ข้อเสนอ และสามารถไปต่อได้”

“หลังจากพัฒนาห้องปฏิบัติการที่สกัด DNA เตรียมสารพันธุกรรมที่ผ่านมาตรฐาน 15189 แล้ว ขั้นต่อไปเราได้ขอห้องปฏิบัติการที่เป็น Prototype Laboratory ที่ใช้ในการตรวจ Regular Genetic เริ่มจากมะเร็งเต้านมในภาคใต้ ซึ่งในส่วนนี้ทาง บพข. ก็สนับสนุนทุน ทำให้เราได้ร่วมงานกับคณะแพทยศาสตร์ และสร้างห้องปฏิบัติการนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ โดย บพข. ให้ทุนไปไม่ใช่เพื่อนำไปจัดซื้อเครื่องไม้เครื่องมืออย่างเดียว แต่ให้ทุนไปเพื่อสร้างอีโคซิสเตม อย่างการสร้าง Genetic counselor ที่เป็นแพทย์ เพิ่มขึ้นมา 4 คน สร้าง Medical Technologist ที่เตรียมสารพันธุกรรมเข้าเครื่องได้ อีก 5 คน เป็นต้น”

ดังนั้น พูดได้ว่า ในวันนี้ บพข. ได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้อีโคซิสเตมนี้เกิดขึ้นมาแล้ว มาในวันนี้ เราได้ต่อยอดให้เกิดความก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาให้เป็นห้องปฏิบัติการมาตรฐานในระดับเอเชียอาคเนย์ ตามคำแนะนำของอนุกรรมการแผนงานฯ ของ บพข. วันนี้ ผมจึงอยากเน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จาก บพข. จากในวันแรก ที่เหมือนเราเล่นขายของอยู่หลังบ้าน ในวันนี้ “ร้านชำ” ได้เกิดขึ้นแล้ว แพลตฟอร์ม อีโคซิสเตม เกิดแล้ว และพร้อมที่จะรับเทคโนโลยีถัดไป ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ได้รับรายได้จาก สปสช. จากจำนวนผู้ป่วยที่มาตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างเป็นรูปธรรม

รศ.ดร.ณฐินี จินาวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยมหิดลที่พัฒนาโปรแกรมทดสอบความชำนาญ สำหรับตัวอย่างทางชีวภาพมนุษย์ โดยเครือข่ายความร่วมมือธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งในประเทศไทย ให้มุมมองที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า

“การขอรับทุนที่ บพข. เป็นอีกหนึ่งด่านที่จะช่วยให้นักวิจัยได้ทบทวนว่านวัตกรรมที่เราคิดขึ้นมานั้นจะต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบใด และถ้าจะทำได้ จะต้องมีส่วนประกอบอะไรที่มารวมกันบ้าง มีความร่วมมืออะไรที่เราต้องทำเพื่อขับเคลื่อนให้เราไปถึงเป้าหมายของการส่งผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนี้ออกสู่ตลาดได้ คำแนะนำจาก คณะอนุกรรมแผนงานฯ ของ บพข. จึงเป็นประโยชน์มากต่อนักวิจัยและผู้ประกอบการ อย่างงานวิจัยไหนที่ได้รับการปฏิเสธ ไม่ได้รับทุน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจบแค่นั้น แต่ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ทุกท่าน ก็จะช่วยให้คำปรึกษา เพื่อปรับแนวทาง Proposal ด้านต่างๆ ในข้อเสนอ ให้มีความเหมาะสมและปรับใช้ได้จริง”

“อย่างงานวิจัยที่ตนเองทำจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ ธนาคารชีวภาพ หรือ Biobank ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure ที่ประเทศที่ทำวิจัยชั้นนำมีแล้วในทุกที่ เป็นหน่วยงานในระดับชาติก็ว่าได้ ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยก็ควรเกิด ธนาคารชีวภาพ นี้ขึ้นนานแล้ว แต่ก็ยังไม่มี ดังนั้น โจทย์สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้เรามีเครือข่ายของการทำธนาคารชีวภาพในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา เรามีการ Set up เป็นเครือข่ายธนาคารชีวภาพขึ้น และเป้าหมายของเราคือทำอย่างไรให้มีการเก็บ
ข้อมูลของคนไข้ได้ไว้ในที่เดียวกัน แหล่งเดียวกัน ด้วยมาตรฐานเดียวกัน”

“การขอรับทุนจาก บพข. จึงมาเติมเต็มในส่วนของการสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งมากขึ้น และเป็นทุนที่ใช้ในขั้นตอนของการทำมาตรฐาน หรือ Standard ให้ธนาคารชีวภาพนี้ โดยในตอนนี้มีมาตรฐานตัวใหม่สำหรับธนาคารชีวภาพที่เราต้องทำให้ได้ ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังไม่ค่อยมีใครทำ ดังนั้น ถ้าเราเดินหน้าสร้างมาตรฐานตัวนี้ก่อนได้ นั่นย่อมเป็นแต้มต่อให้วงการแพทย์ไทยด้วย วึ่งตอนนี้เราก็ผ่าน ISO ในประเทศแล้ว”


ถอดบทเรียนเส้นทางความสำเร็จจากห้องแล็บสู่การผลิตเพื่อใช้จริง

ในเซคชั่นสุดท้าย มีการพูดคุยกันในอีกหัวข้อที่น่าสนใจ นั่นคือ “Journey to impact.. Herbal and cosmeceuticals product from lab to market” โดยเริ่มแชร์ประสบการณ์และมุมมองที่น่าสนใจจาก ศ.ดร.กรกนก อิงคนินันฺท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้กล่าวถึงเส้นทางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร พรมมิพลัส และ รศ.ดร.ภก.เนติ วระนุช หัวหน้าศูนย์วิจัยเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้แชร์มุมมองจากการพัฒนาอนุภาคไคโตซานไมโครพาร์ติเคิลสำหรับกักเก็บสารสกัดน้ำสมุนไพรตรีผลาเพื่อใช้ประโยชน์ทางเวชสำอางและการทดสอบประสิทธิภาพของอนุภาคไมโครพาร์ติเคิลสารสกัดสมุนไพรตรีผลาในผลิตภัณฑ์เวชสำอางต้นแบบทางคลินิก

ต่อมา บริษัท แนบโซลูท จำกัด เจ้าของเทคโนโลยี HyaSphereX (ชื่อเดิม Hy-N) ซึ่งเป็นนวัตกรรมไบโอพอลิเมอร์ ระบบนำส่งสารสำคัญรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเวชสำอาง ยาและวัคซีน ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดย รศ.ดร.ณฐินี จินาวัฒน์ นักวิจัยผู้คิดค้น เทคโนโลยี HyaSphereX และ ดร.วิกรม อาฮูยา ผู้บริหาร บริษัท แนบโซลูท จำกัด ระบุชัดเจนว่า ในส่วนของเทคโนโลยี HyaSphereX จะโฟกัสไปที่การขยายตลาดเทคโนโลยีไปในตลาดต่างประเทศ ซึ่งทุนที่ได้รับจาก บพข. ก็มีส่วนในการทำให้แนบโซลูท สามารถไปบุกเบิกตลาดต่างประเทศหลายแห่งจากการทำให้นวัตกรรมไบโอพอลิเมอร์ ระบบนำส่งสารสำคัญรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเวชสำอาง ยาและวัคซีน ผ่านมาตรฐานในประเทศนั้นๆ ได้

สุดท้าย ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มาแชร์ประสบการณ์ในการพัฒนาห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ISO 17025 สำหรับตรวจสอบสารปนเปื้อน คุณภาพของสารสกัดกระท่อม ตลอดจนผลิตสารมาตรฐาน ซึ่งโครงการนี้ บพข. ได้ให้การสนับสนุนครุภัณฑ์ที่ใช้ในโรงงานและสร้างห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐาน GMP และ ISO17025 ตามลำดับ

และใจความสำคัญที่เวทีนี้ได้สื่อสาร คือ บพข. ได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนทุนในขั้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร พรมมิพลัส ให้เป็นสารสกัดพร้อมใช้ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างมาก และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เน้นย้ำ คือ การทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการขึ้นทะเบียน โดยประเด็นที่ อย. ใช้ในการพิจารณา คือ Quality (คุณภาพ) ,Safety (ความปลอดภัย) และ Efficacy (คุณสมบัติ)

นอกจากนั้น การทำงานร่วมกับ บพข. ทำให้ทีมนักวิจัย ได้เข้าใจในเรื่องของ Market Demand ว่ามีความสำคัญมาก มิเช่นนั้น เมื่อทำไปแล้วก็ไม่ได้นำไปใช้ โดยต้องคิดถึงตั้งแต่ง ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการทำสารสกัดสมุนไพร ที่ควรวางมาตรฐานการควบคุมที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถแตกยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน, Functional food หรือ อาหารเสริม เป็นต้น


Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *