ข่าว

บทบาท แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. กับการขับเคลื่อน นวัตกรรม AI ของไทยสู่เวทีโลก ภารกิจที่เป็นไปได้ด้วยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน

การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศด้าน AI หรือปัญญาประดิษฐ์ นับเป็นภารกิจสำคัญที่ท้าทายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และในการขับเคลื่อนภารกิจนี้ ไม่สามารถสำเร็จได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ นวัตกรรม AI รวมถึงเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่เส้นทางของผู้นำระดับโลกด้าน AI ได้


และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการจัดงาน AI Engineering & Innovation Summit 2024 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเทรนด์ AI ทั้งในระดับโลกและการปรับใช้ AI ในการพัฒนาประเทศไทยในทุกมิติ ผ่านการบรรยายและการอภิปรายจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาที่นำเสนอทั้งผลงานวิจัย การพัฒนาจากมหาวิทยาลัยต่างๆภายใต้เครือข่าย สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering Institute; AIEI)

โดยงานนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน ที่มาร่วมขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาและนำ นวัตกรรม AI ที่คิดค้นโดยนักวิจัยไทยไปปรับใช้จริง เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานร่วมจัดที่สำคัญ คือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะ หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้นักวิจัยและผู้ประกอบการไทย สามารถยกระดับโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ AI ให้มี ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology Readiness Level; TRL) ในระดับที่ต่อยอดไปสู่การผลิตเพื่อใช้จริงในเชิงพาณิชย์ได้

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข.

ในโอกาสนี้ รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. ได้กล่าวถึงบทบาทในการสนับสนุนทุนของ บพข. ผ่านแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม ว่า

“บพข. เป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย “อว. For AI” โดยจะเป็นหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนการจัดทำโครงการด้าน AI for education Tech ซึ่งการสนับสนุนทุนของแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ และเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้

โดยที่ผ่านมา ในระหว่างปี 63-67 ถ้านับเฉพาะที่ทำสัญญาแล้ว 98 โครงการ งบประมาณรวมเฉพาะปีที่ 1,904 ล้านบาท เป็น Pure AI ทั้งหมด 7 โครงการ และในปี 2568 ทาง บพข. มีการกำหนดชัดเจนว่าจะเน้นให้ทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้โครงการวิจัยเกี่ยวกับ AI ผ่านแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดังนี้

  • 1. โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนา AI (Infrastructure for AI)
  • 2. AI สำหรับการผลิตอัจฉริยะ (AI for intelligence Manufacturing)
  • 3. AI สำหรับอุตสาหกรรมสุขภาพดิจิทัล (AI for Digital Health)
  • 4. การให้บริการ AI สำหรับดิจิทัลเทคโนโลยี (AI for Digital Tech as a Services)
  • 5. AI สำหรับการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ (AI for Smart City)

ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ชี้แนวทางการสนับสนุนทุนของ แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. พร้อมขับเคลื่อน นวัตกรรม AI ของไทยในทุกมิติ

และเพื่อให้เห็นภาพของการนำนโยบายการสนับสนุนทุนของ บพข. ไปปรับใช้จริง ซึ่งสามารถตอบสนองภารกิจด้านการเพื่อขีดความสามารถ นวัตกรรม AI ในทุกมิติดังที่กล่าวมา ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้อธิบายเงื่อนไขการขอรับทุนสนับสนุนจาก บพข. พร้อมมุมมองการพัฒนาและต่อยอดโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับ AI ในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น Hub ของเทคโนโลยี AI ประจำภูมิภาคผ่าน Success cases ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. ว่า

“ในตอนนี้ การสนับสนุนทุนของแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. จะแบ่งเป็น 2 เป้าหมายหลัก คือ การสนับสนุน นวัตกรรม AI และ Semiconductor ซึ่งแนวทางการสนับสนุน ก็จะโฟกัสไปที่กลุ่มที่ต้องการการสนับสนุนทุนเพื่อช่วยในการทำ Digital Transformation โดยเราต้องไปจัดการว่า Big data ที่มีนั้น ใช้เป็นข้อมูลสำคัญเพื่อนำมาใช้ต่อยอดสู่การทำให้ AI เรียนรู้ หรือ Learn ได้หรือไม่”

“ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้น เราจึงให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนา AI (Infrastructure for AI) โดยในปี 2563-2564 เราสนับสนุนทุนให้กับงานวิจัยในด้านการวางโครงสร้างพื้นฐาน หรือ AI Infrastructure จำนวนมาก เพื่อให้มีเครื่องมือและนำข้อมูลมาใช้ ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) ก็เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่เราสนับสนุนเงินลงทุนเพื่อสร้าง AI Infrastructure ไป 60 ล้านบาท ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ พิสูจน์ได้จากภารกิจในการผลิตบุคลากรด้าน AI ที่มีความสามารถและไปแข่งขันในเวทีระดับโลก และอยู่ที่อันดับ 106 ของโลก”

“มาในปี 2564 มีการลงทุนก้อนใหญ่ กับการพัฒนา LANTA สุดยอดซูเปอร์คอมพิวเตอร์ไทย โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ถูกจัดให้เป็นเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ประสิทธิภาพสูงสุด อันดับ 70 ของโลก ในปี 2565 จากนั้นมา เราเริ่มสนับสนุนทุนให้กับการนำข้อมูลมาให้ AI เรียนรู้ โดยความท้าทายอยู่ที่ข้อมูลนั้นก็มีจำนวนมหาศาลในด้านต่างๆ อาทิ การเกษตร การยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะสำหรับผู้พิการ การแพทย์ ไปจนถึงการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ดังนั้นเราจึงมีการกำหนดคลัสเตอร์หลากหลายเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัย ผู้ประกอบการ ได้ไปร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ”

“ต่อมาในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด เทคโนโลยีชุด Portable Chest x-ray : CXR ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง นวัตกรรม AI ที่นักวิจัยไทยได้คิดค้นขึ้น ซึ่งมีความแม่นยำ สามารถแปรผลวินิจฉัยจากวิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกได้ราว 15 โรค โดยในช่วงที่โรคโควิดระบาดมีส่วนในการช่วยคุณหมอสแกนคนไข้ได้ว่ามีโอกาสที่จะติดเชื้อในปอดหรือไม่ โดยใช้เทคโนโลยี AI ที่ช่วยลดเวลาคุณหมอในการดูแลคนไข้วิกฤตในช่วงนั้นลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยมอนิเตอร์การกลายพันธุ์ของไวรัสในช่วงนั้นเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เตรียมรับมือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้”

“จนกระทั่งมาเมื่อปี 2566 เทคโนโลยี AI ได้พัฒนาล่าสุดเป็น Generative AI หรือ Gen AI ที่เป็นการใช้อัลกอริทึม และเทคนิค Machine Learning เพื่อสร้างเนื้อหาที่เลียนแบบหรือคล้ายกับข้อมูลที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งแตกต่างจากระบบ AI ดั้งเดิม และเมื่อ AI ได้อัปเกรดขึ้นมาแล้ว ทางแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. จึงให้ทุนสนับสนุนกับ สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ เพื่อไปออกแบบ Thai GPT ที่เหมาะสมกับการใช้งานกับข้อมูลทุกมิติของไทย ทำให้ Gen AI สามารถหาคำตอบในเรื่องต่างๆ ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“และที่ผ่านมา ด้วยข้อกำหนดของ กระทรวง อว. ที่เอื้อต่อการสนับสนุนให้มีการนำ นวัตกรรมและเทคโนโลยี AI ไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ทำให้ แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. สามารถพิจารณาเพื่อมอบทุนสนับสนุนให้กับสตาร์ทอัพก็ได้ ดังนั้น นวัตกรรุ่นใหม่ที่อาจเป็นนักศึกษาที่มีไอเดียการพัฒนานวัตกรรมที่ดี ก็สามารถมาขอรับทุนสนับสนุนได้ หรือจะเป็นนักวิจัยในมหาวิทยาลัยก็สามารถมาขอรับทุนได้ ในขณะที่ภาคเอกชนก็มาขอรับสนับสนุนทุนโดยตรงก็ได้ด้วย”


อัปเดต 3 Focus areas นวัตกรรมและเทคโนโลยี AI ที่ บพข. มุ่งสนับสนุนทุน

ส่วน Focus areas ที่ทางแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. ให้ความสำคัญและมุ่งสนับสนุนทุนในตอนนี้ ผศ.ดร.วรรณรัช กล่าวว่าจะพุ่งเป้าไปที่ นวัตกรรม AI ใน 3 ด้าน คือ

1. การใช้เทคโนโลยี AI ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย

เพราะในยุคนี้ ภาคการผลิตของไทยได้รับการดิสรัปด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และผู้ประกอบการรายกลางไปถึงรายเล็กอาจไม่มีเงินทุนมากพอที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดังนั้น ทาง บพข. จึงมอบทุนเป็นการ Subsidize และสนับสนุนให้ไปใช้เทคโนโลยีของคนไทย ในการยกระดับเข้าสู่การผลิต 4.0 หรือ Manufacturing 4.0

2. การใช้เทคโนโลยี AI ในการแพทย์

ความตื่นตัวในด้านของสุขภาพและการแพทย์ที่เป็นผลมาจากการเกิดวิกฤตโควิด ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความต้องการเครื่องมือในการช่วยวินิจฉัยโรคที่ทันสมัย เช่น การใช้ AI ในการช่วยแพทย์วินิจฉัยว่าเนื้อก้อนนี้จะมีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่

ขณะเดียวกัน ก็มีการลงทุนในระยะยาวเพื่อปูทางสู่การนำสมุนไพรไทยมาพัฒนาเป็นยารักษาโรค ซึ่ง AI จะเข้ามามีส่วนในการช่วยลดเวลาทั้งในขั้นตอนของการ Simulate การทดสอบสรรพคุณของยา ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รู้ว่าการนำสมุนไพรต่างๆ มาเป็นส่วนผสมในยารักษาโรคชนิดหนึ่งนั้นจะมีประสิทธิภาพในการช่วยรักษาโรคได้หรือไม่ อย่างไร และเมื่อได้คำตอบแล้ว นักปรุงยาก็จะนำสูตรของยานี้เข้าไปทดลองในห้องทดลอง

3. การให้บริการ AI as a Services

มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มของ Tech Startup ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจ เช่น เรามีแพลตฟอร์ม AI ที่ช่วยผู้ประกอบการในการทำบัญชี นั่นคือ ZTRUS ที่ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ได้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยแก้ปัญหาในการจัดการเอกสารและข้อมูลทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบัญชี ด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่าง OCR (Optical Character Recognition) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถแปลงข้อความจากภาพหรือเอกสารต่างๆ เช่น ใบเสร็จ ใบกำกับภาษี ให้เป็นข้อความดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ สามารถนำไปใช้งานได้ทันที

“และในปีหน้า เราคาดการณ์ได้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะยังไม่ดีนัก บวกกับแพลตฟอร์มออนไลน์และสื่อโซเชียลของต่างประเทศก็มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ พ่อค้า แม่ค้า ออนไลน์ของไทย ก็ยังไม่มีเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่นวัตกรไทยคิดค้นขึ้นมาใช้เองได้ เราจึงวางแผนว่าจะชวนนักลงทุน ที่อาจเป็นกลุ่มธนาคาร มาร่วมมือกันเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับกลุ่มอีคอมเมิร์ช ที่จะให้กลุ่มผู้ค้าขายออนไลน์มีเครื่องมือที่จะวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนเองได้ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ใช้ฟรี และถ้าทำได้ ย่อมช่วยเพิ่มรายได้และช่วยในการทำมาหากินได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน”

“ดังนั้น การกำหนดแนวทางและเป้าหมายในการสนับสนุนทุนของ แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. จึงมีการปรับเข้าหากลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีไอเดียใหม่ๆ มากขึ้น โดยเปลี่ยนจากเลนส์มองธุรกิจในรูปแบบเก่า มาเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจแบบใหม่ให้สามารถเข้าถึงทุนสนับสนุนจาก บพข. มากขึ้น”

“นอกเหนือจากการสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายหลักอย่าง AI และ Semiconductor แล้ว เรายังขยายไปสนับสนุนงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยี AR หรือ VR ด้วย ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของการนำ AR หรือ VR ไปใช้ในการพัฒนาเกม ให้เกมมีรูปแบบการเรียนรู้ร่วมกับผู้เล่นมากขึ้น ทำให้การเล่นเกมสนุกมากขึ้น ขณะที่ในกลุ่มของการใช้เทคโนโลยี AI ในการมอนิเตอร์เพื่อช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ หรือ Cyber Security ก็เป็นอีกหนึ่งด้านที่ทาง บพข. ให้ความสำคัญและมีการสนับสนุนทุนด้วยเช่นกัน”


แนวทางการพัฒนานวัตกรรมการผลิต Semiconductor ขับเคลื่อน อุตสาหกรรม Smart Electronic มูลค่าสูงของไทย

ในส่วนของการสนับสนุนทุนให้กับกลุ่มการพัฒนา Semiconductor ผศ.ดร.วรรณรัช เน้นย้ำว่ามีการวางเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายการเร่งรัดพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการเติบโตของอุตสาหกรรม Smart Electronics ซึ่งเป็นที่มาของการมีแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ทางด้าน Semiconductor and Advanced Electronics เพื่อตอบโจทย์การสร้าง New Growth Engine ให้กับประเทศ

“สำหรับอุตสาหกรรม Smart Electronics ในอนาคต เราควรโฟกัสกับอุตสาหกรรมการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board : PCB) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจาก PCB ถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น ด้วยกระแสการย้ายฐานการผลิตและปรับโครงสร้าง Supply Chain ครั้งใหญ่ของโลก ได้ส่งผลให้ผู้ผลิต PCB รายใหญ่จำนวนมาก ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันไทยได้ก้าวสู่การเป็น ฐานผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก”

“อย่างไรก็ดี ประเทศไทย ควรมาโฟกัสในอุตสาหกรรมการผลิต PCB ทันสมัยหรือไฮเทค เพื่อไม่ให้ไปซ้ำซ้อนกับเจ้าตลาดอย่างประเทศไต้หวัน ประเทศจีน อย่างการผลิต PCB สำหรับสมาร์ทโฟนพับได้ หรือ PCB สำหรับ Wearable Technology ที่เป็นอุปกรณ์สวมใส่ติดตัวกับร่างกาย”

“นอกจากนั้น ยังมี PCBA เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีฟังก์ชันการทำงานครบถ้วน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยรับจ้างผลิต แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือการที่ไทยสามารถออกแบบ เป็นเจ้าของบอร์ดเอง ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตสมาร์ทมิเตอร์ใช้เองได้ ที่จะช่วยประหยัดงบประมาณสร้างรายได้เพิ่มให้ผู้ผลิตไทยอีกมหาศาล”

“ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการยกระดับ เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิมไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มูลค่าสูง นอกจากนี้ยังช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถพึ่งพาเทคโนโลยีของไทยเอง ลดการนำเข้า ลดต้นทุน และทำให้ประเทศสามารถรับมือได้ทั้งในสถานการณ์ที่ปกติและในช่วงวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”

“อย่างไรก็ดี ต่อจากนี้ไปเราอยากชวนเอกชนให้ปรับวิธีการผลิต จากที่เคยรับจ้างผลิตในแบบ OEM ให้มาออกแบบแบรนด์ของตัวเอง โดยภาครัฐอาจเข้ามามีบทบาทในการ Subsidize ให้เกิดดีมานด์ในช่วงแรก และเชื่อมต่อกับนักวิจัยที่จะไปช่วยสนับสนุน รวมถึงมีทุนวิจัยที่จะไปช่วยให้การลงทุนมีความเสี่ยงน้อยลง และในกรณีที่มีความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการ นักวิจัย รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ก็จะยิ่งเป็นระบบนิเวศที่เหมาะสมที่จะมาขอรับทุนสนับสนุนจาก บพข. ได้ด้วย”


ใช้การพัฒนา ธุรกิจฐานนวัตกรรม IDEs ยกระดับผู้ประกอบการไทยให้โตได้ต่อเนื่อง

ไม่ใช่แค่เจ้าของกิจการขนาดใหญ่เท่านั้น แต่การสนับสนุนทุนของ บพข. ยังให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการขนาดกลางไปถึงรายย่อยด้วย โดย ผศ.ดร.วรรณรัช อธิบายเพิ่มเติมว่า

“ในส่วนของภาคผู้ใช้เทคโนโลยีและ นวัตกรรม AI ที่กล่าวมา เราก็มีเครือข่ายสำคัญ คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มผู้ใช้เป้าหมาย ที่เราอยากสนับสนุนและส่งเสริม คือ กลุ่มเกษตรอาหาร กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่แต่อาจไม่มีกำลังมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นรายกลางและรายเล็กที่ภาครัฐจำเป็นต้องมีการ Subsidize เพื่อให้เขาเปลี่ยนและปรับกระบวนการผลิตจากการทำแบบที่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ทำ ก็เปลี่ยนมาใช้เครื่องมือ เครื่องจักรทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เขาประหยัดค่าแรงที่ต้องไปจ่ายให้แรงงานต่างด้าว”

“นอกจากนั้น บพข. และ สภาอุตสาหกรรมฯ ยังได้ร่วมมือกันพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการทุกระดับให้เข้าถึงเทคโนโลยี AI ที่จะนำไปปรับเปลี่ยนภาคการผลิตให้ทันสมัยมากขึ้น โดยที่ผ่านมา บพข. ได้เดินหน้าปรับใช้แพลตฟอร์มแผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation driven enterprises: IDEs) ขนาดใหญ่ หรือเรียกสั้นๆ ว่า แผนงาน IDEs ที่จะสนับสนุนทุนบางส่วน แก่ผู้ประกอบการขนาดกลาง (Medium enterprise) และใหญ่ (Large enterprise) สำหรับจ้างที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรมให้ธุรกิจมีความพร้อมที่จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจากการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขัน ผ่านกลไกความร่วมมือและร่วมพัฒนากับองค์กรหรือบุคคลในเครือข่ายการพัฒนานวัตกรรม (Intermediary and Innovation network) อาทิ Intermediary หรือ หน่วยงานหรือองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม (IBDS) เพื่อขยายรูปแบบการสนับสนุนงบประมาณไปสู่ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) อันนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน”

“และยังมีแพลตฟอร์ม NQI เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพและบริการของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) โดยเป็นแผนงานย่อยเพื่อสนับสนุนงบประมาณในการใช้สร้างคุณภาพ ความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือในสินค้าและบริการที่เข้าสู่ตลาด สร้างความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรมทางการค้า ซึ่งที่ผ่านมางานด้านการสร้างมาตรฐานนี้เราทำทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่างในต่างประเทศ ถ้ามีสินค้านวัตกรรมที่ต้องไปขายในตลาด EU เราก็จะสนับสนุนทุนให้ผู้ประกอบการเพื่อทำให้สินค้านั้นผ่านมาตรฐานที่ EU ยอมรับ”


3 ต้นแบบโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพข. พร้อมขยายธุรกิจสู่ตลาด นวัตกรรม AI ระดับโลก

“เรามีความภูมิใจที่ในวันนี้ หลากหลายโครงการวิจัยที่ได้รับการยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถ เริ่มได้ผลลัพธ์ที่ดีคืนกลับมาแล้ว ผ่านต้นแบบโครงการวิจัยต่างๆ” ผศ.ดร.วรรณรัช กล่าวพร้อมยกตัวอย่าง 3 โครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. และพร้อมขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก

Dronebox

คิดค้นโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้งานง่ายสำหรับการประมวลผลภาพจากโดรน พัฒนาขึ้นเพื่อให้การประมวลผลภาพจากโดรนเป็นเรื่องง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยสามารถเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ตบนระบบคลาวด์ เป้าหมายของ Dronebox คือการมุ่งเน้นพัฒนาฟีเจอร์พื้นฐานสำหรับการประมวลผลภาพที่ถ่ายโดยโดรน พร้อมทั้งผสานเครื่องมือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และแพลตฟอร์มนี้ยังได้รับการยอมรับจากเวทีนวัตกรรมระดับโลก เช่น การได้ร่วมแสดงผลงานในงาน Techinnovation 2023 ณ ประเทศสิงคโปร์

แพลตฟอร์ม Dronebox นี้จึงเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างระบบนิเวศการสำรวจด้วยภาพถ่ายจากโดรนในอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศไทย แล้วนำคุณค่าที่ได้จากภาพถ่ายโดรนมาก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Senovate AI

โครงการวิจัย “การพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโคนม” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมโคนมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาโดย Senovate AI สตาร์ทอัพสัญชาติไทย จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็น โครงการนี้เป็นการพัฒนากระบวนการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลหรืออัลกอริทึม (Algorithm) จากอุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Activity meter) เพื่อตรวจติดตามและจำแนกการเป็นสัดและพฤติกรรมอื่นๆ ของโคนมด้วยได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ แทนแรงงานคน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนมของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี และล่าสุด เป็นที่น่ายินดีว่า Senovate AI ได้ร่วมทุนกับบริษัทในสหรัฐอเมริกา และจะมีการลงทุนเพิ่มอีกกว่า 100 ล้านบาท

E-nose

E-nose หรือ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอีกหนึ่งผลงานที่คิดค้นโดยทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับเงินลงทุนจากโครงการ Innovation one จนสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบธุรกิจสตาร์ตอัปชื่อ “เอ็มยูไอ โรบอติกส์ (MUI Robotics) โดย E-nose สามารถแยกแยะลักษณะของกลิ่นได้อย่างละเอียดและแม่นยำด้วยเซ็นเซอร์เหมือนจมูกคน มีโปรแกรมที่สามารถแปลงค่ากลิ่นเหมือนสมองคน โดยอาศัยหลักการทำงานของเซ็นเซอร์ตรวจวัดก๊าซหรือโมเลกุลกลิ่นหลายเซ็นเซอร์ร่วมกัน โดยแปลงค่ากลิ่นออกมาเป็นตัวเลข ประมวลผลสัญญาณ จดจำรูปแบบ วิเคราะห์และจำแนกกลิ่นด้วยหลักการของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ถ้ามีความแตกต่างของกลิ่นเกิดขึ้น ค่าจะเปลี่ยนไปทันที ซึ่งจมูกอิเล็กทรอนิกส์จะรับกลิ่นได้เที่ยงตรง มีความละเอียดสูงกว่าจมูกของมนุษย์ สามารถแปลผลออกมาเป็นตัวเลขระดับทศนิยม

ด้วยเหตุนี้ ทุกโรงงานจำเป็นต้องมี E-nose ยกตัวอย่าง โรงงานผลิตเครื่องดื่ม เช่น น้ำมะพร้าว กาแฟกระป๋อง ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตร จะเจอปัญหาค่อนข้างมาก เช่น ถ้าวัตถุดิบมาจากคนละสวน จมูกมนุษย์อาจแยกแยะไม่ได้ แต่ E-nose สามารถรู้ได้เลย หากมีสารแปลกปลอมเข้ามาจะแยกแยะได้ทันที ทำให้การส่งสินค้าเข้าไปขายในต่างประเทศไม่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดข้อตกลงจนต้องตีกลับสินค้าล็อตนั้น
ตอนนี้ E-nose ได้ Spin-off ออกมาเป็นบริษัทแล้ว และได้รับการรับรองมาตรฐานจากประเทศเยอรมันนีเรียบร้อยแล้ว และต่อจากนี้ก็คาดว่านวัตกรรมชิ้นนี้จะสามารถไประดมทุนได้อีกมาก


Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *