ข่าว

ไทย-สเปน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถงานวิจัยและนวัตกรรม ‘นาโนเทคโนโลยี’ เพื่อสุขภาพและการแพทย์ ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้คนไทย ผ่านความร่วมมือ บพข. & CDTI

หลังจากการลงนามความร่วมมือภายใต้โครงการความร่วมมือทวิภาคี ด้านนวัตกรรมไทย – สเปน  (TLSIP – Thailand & Spain Innovating Program) ระหว่าง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ CDTI ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและการอุดมศึกษา (Ministry of Sciences Innovation and Universities) ประเทศสเปน ที่เกิดขึ้นเมื่อ เดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรม พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่าง นักวิจัย และผู้ประกอบการ ไทย-สเปน ด้านอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และนวัตกรรมการสร้างมูลค่าของเสียจากเกษตรอาหาร ซึ่งจะส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนสำหรับประชาชนของทั้งสองประเทศ มาในวันนี้ได้ ไทย-สเปน ได้ก้าวสู่การต่อยอดความร่วมมือครั้งใหม่อย่างต่อเนื่อง

โดยในครั้งนี้ บพข. และ CDTI จะร่วมมือกันพัฒนางานด้านวิจัยและนวัตกรรมในด้านนาโนเทคโนโลยี แห่งอนาคตทางด้านสุขภาพ การแพทย์เฉพาะบุคคล เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งงานประชุมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-สเปน ครั้งนี้ ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้นำในแวดวงสุขภาพและนาโนศาสตร์จากทั้งสองประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้แนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด สร้างความร่วมมือทางวิชาการและนวัตกรรม รวมถึงแสวงหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกันผ่านการทำ Business Matching

ในงานนี้ มีเวทีเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญระดับสูงจากแวดวงการศึกษาและธุรกิจของทั้งสองประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของวงการสุขภาพ และโอกาสในการทำงานร่วมกัน โดยเน้นที่ผลกระทบของนาโนเทคโนโลยีต่อการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ ทั้งในด้านประโยชน์และความท้าทายที่สำคัญ

และในช่วงบ่ายยังมีกิจกรรม B2B (Business-to-Business) และ R2B (Research-to-Business) ซึ่งถือว่าเป็น ไฮไลต์สำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนและสถาบันวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศสเปนและประเทศไทยกว่า 15 แห่ง ได้เข้าร่วม Pitching นำเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาทางด้าน Nano Medicine เพื่อหาพันธมิตรและทุนสนับสนุนในการพัฒนาธุรกิจ นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ ของศูนย์วิจัยและผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของ บพข. และ CDTI ในการร่วมกันจัดงานครั้งนี้


เฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด เอกอัครราชทูตสเปนประจำราชอาณาจักรไทย

CDTI และประเทศสเปน พร้อมสานต่อความร่วมมือ เชื่อมต่อจุดแข็ง 15 บริษัท ไทย-สเปน สู่การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยีนาโนทางการแพทย์อย่างยั่งยืน

ในพิธีเปิดงาน Spain-Thailand Innovation Forum ภายใต้หัวข้อ “Harnessing the potential of Nanotechnology: Future Health, Personalized Medicine & Wellbeing” เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนาโนเทคโนโลยีแห่งอนาคตทางด้านสุขภาพ การแพทย์เฉพาะบุคคล และความเป็นอยู่ที่ดี จัดขึ้นที่ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก เฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด เอกอัครราชทูตสเปนประจำราชอาณาจักรไทย และ สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดย คุณเฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด ได้กล่าวในโอกาสนี้ว่า

“งานประชุมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-สเปน ครั้งนี้ ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้นำในแวดวงสุขภาพและนาโนศาสตร์จากทั้งสองประเทศ เพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้และแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด สร้างความร่วมมือทางวิชาการและนวัตกรรม รวมถึงแสวงหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน”

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ ไทย-สเปน ได้มีโอกาสพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีร่วมกันผ่านหน่วยงานและกระทรวงที่ดูแลรับผิดชอบในด้านนี้ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่าง บพข. หรือ PMUC และ CDTI ซึ่งทั้งสองหน่วยงานล้วนเป็นหน่วยงานระดับประเทศที่ดูแลทั้งในด้านการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต่างๆ”

สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

“มาในวันนี้ ในปี 2024 บพข. และ CDTI ได้ เริ่มต้นความร่วมมือครั้งใหม่ในการพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้นาโนเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ การแพทย์ และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ โดยเป็นไปตามแผนปฏิบัติการร่วมปี 2024-2026 และคาดว่าในช่วงเวลาต่อจากนี้ก็จะมีความร่วมมือกันในการพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอื่นต่อไป เช่น เทคโนโลยีการเกษตรและพลังงาน”

“ในโอกาสนี้ ได้มีคณะผู้แทนจากสเปน 11 ท่าน ซึ่งล้วนมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านต่างๆ ทั้งการวินิจฉัยโรคระดับนาโน วัสดุนาโนชีวการแพทย์ การนำส่งยาในระดับนาโน ไปจนถึงการใช้อนุภาคนาโนเพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้ด้วย โดยได้รับการประสานงานจากสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย และ CDTI ซึ่งเป็นหน่วยงานนวัตกรรมแห่งชาติของสเปน”

“และยังมีบริษัทชั้นนำของสเปนที่เป็นบริษัทผู้คิดค้นและออกแบบแพลตฟอร์มเทคโนโลยี และบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี เดินทางมาแลกเปลี่ยนความรู้ พูดคุย ซึ่งจะต่อยอดสู่ความร่วมมือธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีของไทยต่อไปได้อีกด้วย”

“การได้ทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ดูแลด้านการต่อยอด พัฒนา งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการอย่าง บพข. และ CDTI นับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-สเปน ในการสนับสนุน แลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์ของการพัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืน และ “ความต่อเนื่อง” เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เกิดผลดีในการพัฒนาทั้ง 2 ประเทศอย่างเป็นรูปธรรม”

คาร์ลอส เด ลา ครูซ ผู้อำนวยการ CDTI

ด้าน คาร์ลอส เด ลา ครูซ ผู้อำนวยการ CDTI ได้กล่าวถึงจุดแข็งของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพของประเทศสเปน รวมถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้ประกอบการในสเปนที่ CDTI ดูแลว่า

“CDTI หรือ Centre for The Development of Industrial Technology เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทั้งเงินลงทุนในการสร้างธุรกิจและเงินทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาแก่บริษัทสัญชาติสเปนมากกว่า 13,000 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 16,300 ล้านยูโร และก่อตั้งมาอย่างยาวนานถึง 40 ปี ด้วยจุดแข็งที่ทาง CDTI มีนี้ จะช่วยส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพไทยที่เกี่ยวข้องกับการใช้นาโนเทคโนโลยี”

“นอกจากนั้นทาง CDTI ยังมีการกำหนด Business Financing Programs โดยทำข้อตกลงกับหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ใน 29 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นการสนับสนุนโปรเจ็กต์นวัตกรรมและเทคโนโลยีกว่า 61 ชิ้น ในปี 2023 โดยในจำนวนนี้ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นการสนับสนุนให้กับประเทศในเอเชียแปซิฟิก โดยเงินทุนที่สนับสนุนไปนั้นมีมูลค่ากว่า 10 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศล่าสุดที่ CDTI ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกันในรูปแบบทวิภาคีอย่างเป็นรูปธรรมและมีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง”

“ดังนั้น ด้วยความร่วมมือระหว่าง CDTI และ บพข. ตลอดจนศูนย์วิจัย สถาบัน มหาวิทยาลัย ภาคเอกชนทั้งในประเทศไทยและสเปน จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ทั้งสองประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าไปพร้อมกัน ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ การบุกเบิกตลาดใหม่ๆ และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ร่วมกัน”


รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข.

บพข. พร้อมต่อยอดความร่วมมือ ไทย-สเปน ยกระดับการวิจัยและนวัตกรรม นาโนเทคโนโลยี สู่การนำไปปรับใช้ สร้างมูลค่าได้จริง

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความร่วมมือระหว่าง บพข. และ CDTI ว่า

“หลังจาก บพข. และ CDTI ได้ลงนามความร่วมมือในโครงการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อสุขภาพ เมื่อเดือน พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ก็มีความก้าวหน้าในความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างไทยและสเปนอย่างต่อเนื่อง เช่น การที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท COPSEMAR ของสเปน และสถาบันวิจัย ICTAN/CSIC ที่ได้มาสำรวจเทคโนโลยีใหม่ในด้านต่างๆ ร่วมกัน เช่น การค้นพบยาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เทคโนโลยีสะอาด และเทคโนโลยีสุขภาพ”

“ขณะที่มหาวิทยาลัยในไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและอุตสาหกรรมกับสเปนในด้านนาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์และความปลอดภัยด้านอาหารด้วย”

“และเป็นที่น่ายินดีว่าภายในระยะเวลาไม่ถึง 7 เดือน ไทยและสเปนได้ร่วมมือกันจัดการประชุมนวัตกรรมระดับสูง 2 ครั้ง เพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลกในด้านต่างๆ ที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพทางเทคโนโลยีและธุรกิจที่เกื้อหนุนกัน ได้แก่ ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดีต่อสุขภาพ และล่าสุดในด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่การประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ ยาเฉพาะบุคคล และความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต การประชุมทั้งสองครั้งประสบความสำเร็จในการดึงดูดคณะผู้แทนจากสเปนที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนารวมถึงผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 คน จาก 10 หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ของไทยให้เข้าร่วม”
ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข.

ด้าน ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข. ได้กล่าวถึงภารกิจสำคัญของ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข. และความร่วมมือระหว่างไทยและสเปนในการศึกษาและต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ว่า

“PMUC ตั้งขึ้นในสมัยที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. โดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการดึงเอางานวิจัยที่มีศักยภาพในการส่งเสริมไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ด้วยการสนับสนุนทุนเพื่อใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในสินค้า ผลิตภัณฑ์ นั้นๆ โดย นักวิจัย จะต้องมี Prototype มาจากห้องแล็บแล้ว หรือมี Proof of Concept ที่เป็นการทดสอบความเป็นไปได้ “การวิเคราะห์ความเป็นไปได้” ว่าสามารถนำไปปรับใช้เพื่อผลิตในทางการค้าหรือผลิตเป็น Product ได้”

“ดังนั้น การสนับสนุนทุนจาก PMUC ก็จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับ โมเดลธุรกิจ (Business Model) โอกาสทางการตลาด (Market Opportunity) รวมถึงมีการพิจารณาในเรื่อง TRL ที่ย่อมาจาก Technology Readiness Level หรือ ระดับความพร้อมของเทคโนโลยี โดยงานวิจัยนั้นต้องมีการดำเนินการถึง TRL4 ซึ่งสำหรับงานวิจัยในแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ จะมีการส่งเสริมต่อไปให้ถึง TRL6”

“โดย TRL4 เป็นการทดสอบในสัตว์ทดลองว่าไม่เป็นพิษและปลอดภัย ส่วน TRL5 และ TRL6 ก็จะเป็นการทำ Clinical Trial เฟส 1 และ เฟส 2 ตามลำดับ โดยในเฟส 1 บริษัท Startup หรือ SME ควรได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจทำ Clinical Trial เฟส 1 จนกระทั่งมาใน เฟส 2 ทางบริษัทต้องมีการลงทุนร่วมด้วยเพราะจะมีมูลค่ามากขึ้น”

“ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญ ที่บพข. ตั้งใจกำหนดให้มี แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ก็เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์ให้ประเทศไทยมี National Security จากการต่อยอดงานวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐานสากล เช่น ในช่วงวิกฤตโควิด เราได้สนับสนุนทุนให้กับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เพื่อผลิต Diagnostic Kit ที่ใช้ในการตรวจโควิดซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานสากล เป็นต้น”

“ส่วนความร่วมมือในวันนี้ เกิดขึ้นจากความพยายามหา Stakeholder ที่จะมาทำงานร่วมกันในบริบทความร่วมมือระหว่างไทยและสเปน ทั้ง นักวิจัย บริษัท ของทั้งสองประเทศ ที่จะมาขอทุนสนับสนุนได้ทั้งที่ CDTI หรือ บพข. เพื่อให้ทุนสนับสนุนในการที่จะผลักดันโปรเจกต์ร่วมกัน ซึ่งมีประเด็นที่ต้องดูแลร่วมกัน ทั้งกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ข้อตกลงความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การให้สัญญาการใช้สิทธิ เพื่อที่ทางบริษัทจะได้นำงานวิจัยนั้นไปต่อยอดต่อ หรือ การให้ Licensing ดังนั้น ที่ผ่านมา PMUC จึงไม่ได้มีบทบาทในการให้ทุนอย่างเดียว แต่มีหน้าที่ในการ Facilitate หรือเป็นตัวกลางระหว่างทุกฝ่ายด้วย”

“อย่างในวันนี้ทางฝั่งของนักวิจัยจากไทย ก็มาจากทั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันหรือหน่วยงานวิจัยที่ดูแลการศึกษาวิจัยในด้านนาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยพะเยา ตลอดจนมีบริษัทที่เป็น Spin-off Company บริษัท SME และ บริษัท Startup ที่เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมที่ใช้นาโนเทคโนโลยีของไทย ซึ่งมีความโดดเด่นและได้รับการยอมรับในระดับโลก”

“และเราก็มีความยินดีที่จะได้ต่อยอดความร่วมมือในการศึกษาวิจัยร่วมกับทางสเปน เพราะประเทศสเปนมีความโดดเด่นอย่างมาก เรื่องการปรับเอานาโนเทคโนโลยีไปสร้างสรรค์นวัตกรรม แพลตฟอร์ม การให้บริการทางการแพทย์ นอกจากนั้น อีกหนึ่งจุดเด่นของทางสเปน คือ มีการลงทุนจำนวนมหาศาลที่มุ่งพัฒนานาโนเทคโนโลยี และนับว่ามีการลงทุนสูงที่ในกลุ่มประเทศยุโรป โดยทางการสเปนได้วางแผนไว้ว่าหลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย จำเป็นต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนทุนให้กับภาคการวิจัยของประเทศและมีการวางยุทธศาสตร์ว่าจะมีการดึงดูดนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในกลุ่มประเทศยุโรปให้มาอยู่ที่สเปนเพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างบรรยากาศ Facility ที่เหมาะสมกับการมาอยู่อาศัย และที่สเปนก็มีค่าครองชีพต่ำอยู่แล้วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อาหารก็อร่อย อากาศดี ภูมิประเทศสวยงาม”

“ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ควรเป็นต้นแบบให้ประเทศไทยด้วยเช่นกัน ในการให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์ของประเทศโดยให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน”


Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *