ข่าว

แชร์แนวทางพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ปูทางให้ การท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลไทย โตได้อย่างยั่งยืนตามแนวทาง Net Zero Tourism (ตอนที่ 2)

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุชัดเจนว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยเฉพาะการพัฒนา การท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลไทย เชิงรุก ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมกว่า 3,000 กิโลเมตร ซึ่งในปี 2565 มีมูลค่ารายได้รวมมากถึง 1.21 ล้านล้านบาท

โดยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล ปี 2565 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 29 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ 600,000 ล้านบาท มากกว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยเกือบ 2 เท่า คิดเป็นการใช้จ่ายเฉลี่ย 4,800 บาท/คน/วัน สูงสุดในบรรดา 5 คลัสเตอร์ การท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลไทย

ขณะที่ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา เมื่อปี 2565 มีผู้เยี่ยมเยือนทั้งชาวไทยและต่างชาติ 18 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ 180,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 2,861 บาท/คน/วัน มีจุดขายหลากหลาย เช่น สายมู และสายธรรมชาติ ซึ่งล่าสุดได้มีการประกาศพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย

จากข้อมูลทางสถิตินี้ บ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทย จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา การท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลไทย เชิงรุกในทุกมิติ ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ ย่อมเป็นต้นแบบที่นำไปปรับใช้กับการท่องเที่ยวไทยในภาพรวม ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนแบบมุ่งไปสู่เป้า Net Zero Tourism

และเพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นภาพความสำเร็จร่วมกัน ของการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยที่ควรต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ไปจนถึงหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาที่ทำงานวิจัยซึ่งมุ่งหวังนำผลวิจัยนั้นมาปรับใช้จริงในพื้นที่และชุมชนท่องเที่ยวไทย เราได้มีโอกาสไปพูดคุยกับ คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มด้านการตลาดและนวัตกรรม บริษัท เดนท์สุ ประเทศไทย จำกัด (Dentsu Thailand) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์กลยุทธ์และการวางแผนตลาดที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และได้ใช้ความรู้ ความสามารถ บวกกับประสบการณ์นี้ในการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เดินหน้าผลักดันการท่องเที่ยวไทยในภาพลักษณ์ที่ควรจะเป็นสู่สายตาชาวโลก


คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มด้านการตลาดและนวัตกรรม บริษัท เดนท์สุ ประเทศไทย จำกัด (Dentsu Thailand)

บทบาทสำคัญในการแนะแนวทางปรับกลยุทธ์การสื่อสารการตลาด เพื่อวางทิศทางพัฒนาการท่องเที่ยวไทยอย่างถูกทาง

หากเอ่ยชื่อเต็ม คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่หากเรียกท่านว่า อาจารย์โอ คนในแวดวงการท่องเที่ยว ตั้งแต่หน่วยงานรับผิดชอบด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ไปจนถึงคนในชุมชนท่องเที่ยวทั่วประเทศ ต่างต้องรู้จักและยอมรับในองค์ความรู้ที่วิทยากรและที่ปรึกษาท่านนี้เต็มใจแบ่งปันเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในทุกมิติ

จากการเติบโตมาบนสายงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนยุทธศาสตร์ที่เน้นการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค และมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทข้ามชาติที่ทำเกี่ยวกับการวิจัยทางการตลาดมาโดยตลอด จนกระทั่งได้มาทำงานที่บริษัทในเครือเดนท์สุ ประเทศไทย ทำให้คุณโอลิเวอร์ก็ได้มีโอกาสไปเป็นที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ให้กับบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะในการเปิดตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ในหลากหลายธุรกิจ

“โดย ททท. มาด้วยโจทย์ทางนโยบายที่ใหญ่มาก กับการที่ประเทศไทยนับเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสูงมาก ยิ่งในตอนนี้เมื่อวิกฤตโควิดคลี่คลาย ธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยก็ฟื้นตัวได้เร็วมาก แทบจะกล่าวได้ว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวไทยในจำนวนก่อนเกิดวิกฤตโควิด หรือไม่แน่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

“ทว่า ที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่องการวางยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในแนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีการกล่าวถึงอย่างชัดเจน คือ การท่องเที่ยวไทยไม่ควรยึดในเรื่องของปริมาณ แต่ควรยึดในเรื่องของคุณภาพให้มากขึ้น นี่จึงเป็นที่มาของการวางยุทธศาสตร์ High Value Traveler ที่ให้ความสำคัญกับการลดจำนวนนักท่องเที่ยวปกติลงแล้วตั้งใจดึงนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ที่มีความสามารถในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยได้ ขณะที่ การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของเราก็ทำได้ง่ายขึ้นด้วย

“เพราะในอีกมุมหนึ่ง การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต้องพัฒนาคู่ไปกับจิตสำนึกของทุกภาคส่วน โดยในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามา แม้ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศก็จริง แต่ในอีกด้าน ก็เป็นการรับคนเข้ามากิน เข้ามาใช้ ทรัพยากรของเรา โดยที่ไม่ได้มีการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดี สุดท้ายประเทศของเราก็มีแต่จะสูญเสีย”

และจากจุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ คุณโอลิเวอร์ เข้ามามีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาให้กับ ททท. ในการทำยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลกมาเยี่ยมเยือนเมืองไทย และต่อมา คุณโอลิเวอร์ก็ได้เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ และแชร์มุมมองรวมถึงกลยุทธ์ดีๆ ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้กับผู้บริหาร ของ ททท. มาโดยตลอด

“การทำงานที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยด้วยความรู้และประสบการณ์ของตัวผม ต้องบอกว่าผมไม่ได้ทำไปเพื่อเงินทอง และบอกได้อย่างเต็มปากว่าเหตุผลที่ทำด้วยความเต็มใจนี้ก็เพื่อตอบสนองกับความศรัทธาต่อประเทศชาติที่เรามีในฐานะที่ผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่อยากเห็นบ้านเมืองเราพัฒนาไปในทิศทางที่ควรจะเป็นเพื่อก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก”


2 Success cases พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างนิยามใหม่ให้การท่องเที่ยวไทย : วาง Branding ใหม่ให้ เกาะพะงัน พร้อมต่อยอดสู่ Dream Destination ในใจชาวโลก

เพื่อให้เห็นภาพการใช้แนวทางวางแผนการสื่อสารการตลาดและการสร้างแบรนด์ในการ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” สร้างภาพจำใหม่ให้กับจุดหมายปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยวทั่วโลก คุณโอลิเวอร์ ได้หยิบยกเอา 2 Success cases ที่เขาได้ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคท้องถิ่นมาบอกเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายว่า

“ที่ผ่านมา ผมมีตำแหน่งเป็นประธานฝ่ายกลยุทธ์ ของ 3 เกาะ ในอ่าวไทย คือ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ซึ่งผู้นำชุมชนทั้ง 3 เกาะนี้ มาปรึกษาด้วยโจทย์หลักที่คล้ายกันว่า ในวันนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่เกาะมากมาย และมาเยอะจนกระทั่งไม่รู้จะรับมือกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามานี้อย่างไร เพราะฉะนั้น โจทย์สำคัญสำหรับเกาะท่องเที่ยว 3 แห่งนี้ คือ จะจัดการการท่องเที่ยวในเกาะเหล่านี้อย่างไรให้เป็นระบบ”

“เริ่มจาก เกาะพะงัน ที่ถูกตีตราไปแล้วว่าเป็นเกาะแห่งปาร์ตี้ เพราะ “ฟูลมูนปาร์ตี้” ที่เกาะพะงัน ดังในระดับโลก และต้องยอมรับว่า หลังจากวิกฤตโควิดคลี่คลาย เกาะพะงันฟื้นตัวได้เร็วกว่าเกาะหลายแห่งใน จ.ภูเก็ต เพราะเกาะพะงัน มีจุดขายที่เด่นชัดมากเรื่อง “ฟูลมูนปาร์ตี้” แต่ผู้นำและชาวชุมชนเกาะพะงัน อยากให้เกาะพะงันมีภาพจำในด้านอื่นด้วย”

เกาะพะงัน

“และเพื่อวางแผนและบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ ผมต้องลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจทั้งต้นทุนทางวัฒนธรรม โครงสร้างของชุมชน ใครเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาะพะงันต้องพึ่งพาอะไรบ้าง ซึ่งจากการลงพื้นที่ไปศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้ผมได้พบปะ พูดคุย กับคนในหลายภาคส่วนมาก จนเป็นที่มาว่าเราต้องทำยุทธศาสตร์ของเกาะพะงัน และได้นำมาปรับใช้มาเป็น 10 ปีแล้ว”

โดยในวันนี้ เกาะพะงันจะถูกแบ่งออกเป็น 5 โซน โซนที่สำคัญมาก คือ โซนหาดริน ที่เป็นโซนจัดปาร์ตี้มาแต่เดิม ซึ่งตอนจัดโซนนี้ก็มีการตั้งคำถามว่าควรแบ่งโซนนี้ไหม ผมมองว่าต้องมี เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับเกาะพะงันเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เราจึงต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของเกาะพะงันที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมา ทำให้คนในเกาะมีกินมีใช้ มีรายได้ จากการจัดงานฟูลมูนปาร์ตี้เป็นหลัก”

“แต่โจทย์สำคัญของการสร้างการรับรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับ เกาะพะงัน คือ เมื่อทั่วโลกรับรู้ว่าเกาะพะงันเป็น Party Island แล้วเราจะบริหารจัดการเกาะแห่งนี้อย่างไร ให้มีการต่อยอดไปยังการรับรู้ในแง่มุมดีๆ ด้านอื่นที่เกี่ยวกับเกาะพะงันบ้าง”

“และจากการลงพื้นที่ไปสำรวจเกาะพะงัน ผมพบว่ามีโซนอื่นอีกมากมายที่น่าสนใจและสามารถนำมาโปรโมตเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับเกาะแห่งนี้ได้ เช่น ภูเขาที่สูงที่สุดบนเกาะพะงัน คือ ภูเขาที่สูงที่สุดของอ่าวไทย และมีวิวสวยงามมาก เพราะเมื่ออยู่บนเกาะพะงันเราจะเห็นหมู่เกาะอ่างทอง เกาะเต่า เห็นไปได้ถึงส่วนหนึ่งของเกาะสมุย และโซนนี้เป็นโซนที่มีผู้ที่ชื่นชอบการทำท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพอยู่กันเยอะมาก ทำให้เราทราบอีกมุมว่าเกาะพะงันมีชื่อเสียงในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาด้วยจุดประสงค์ Wellness Tourism ที่ใหญ่มาก”

เกาะพะงัน

“เพราะที่นี่มีการเปิดให้ผู้สนใจมาเรียนรู้ในศาสตร์ Sound Healing หรือโยคะขั้นสูง และที่เกาะพะงันเป็นที่ตั้งของสถานที่สอน Naked Yoga ที่ดีที่สุดในโลก ขณะที่ ที่เกาะพะงัน มีน้ำตกที่สวยมากแห่งหนึ่งของไทย และมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยเสด็จพ่อรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาที่นี่ประมาณ 17 รอบในรัชสมัยของท่าน และเมื่อมีการสืบค้นไปถึงเหตุผลที่เสด็จพ่อ ร.5 ทรงเสด็จมาที่เกาะพะงัน ก็พบว่า พระองค์ท่านจะทรงเสด็จมาในวันพระจันทร์เต็มดวง ด้วยเหตุนี้ จึงมีการไปตีความว่าสาเหตุนั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับในเรื่องของความเชื่อไสยศาสตร์ว่าการได้มาอาบแสงจันทร์ในจุดที่เป็นองศาที่ดีที่สุดของประเทศจะช่วยชำระมนต์ดำออกจากร่างกายไปได้”

เมื่อ คุณโอลิเวอร์ ได้เข้าใจในจุดเด่นและบริบทของพื้นที่ในภาพรวม ก็ได้ร่างยุทธศาสตร์พร้อมกับชาวบ้านและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ Stakeholders ทั้งหลาย จนเป็นที่มาของการกำหนดจุดยืนทางการตลาด หรือ Marketing Positioning ของเกาะพะงันใหม่ว่า “เกาะพะงัน เกาะแห่งพลัง” หรือ “The Island of Power Energized by The Moon” เพื่อสื่อสารว่าเกาะแห่งนี้พร้อมที่จะส่งมอบพลังให้กับคนที่มาเยือน

“โดยโซนที่เป็น โซนปาร์ตี้ เราจะเรียกว่าเป็น โซนปล่อยพลัง ส่วนโซนที่มาทำโยคะ หรือเปิดรับผู้เดินทางมาท่องเที่ยวในแบบ Wellness Tourism เราเรียกว่า โซนรับพลัง และโซนที่เป็นเกษตรชุมชน เป็นโซนพลังการท่องเที่ยวในเชิง Green Economy และเมื่อเกาะพะงันมีจุดยืนที่ชัดเจนเช่นนี้ ผมเชื่อมั่นว่าภาพจำของเกาะพะงัน ที่ถูกมองว่าเป็นเกาะปาร์ตี้จะค่อยๆ จางลงและถูกแทนที่ด้วยด้านที่ดี น่ามาเที่ยว ของเกาะพะงัน”

เกาะพะงัน

“และที่ผ่านมา เมื่อเราไปที่ International Tourism Fair หรืองาน ITB ที่จัดที่เยอรมนีในทุกปี จะเห็นได้เลยว่า ความแตกต่างในการทำการตลาดจะชัดเจน ต้องยอมรับว่าคนทั่วโลกในทุกวันนี้ พลังพร่องไป เพราะรับแต่พลังลบ ทันทีที่ได้ยินว่า เกาะพะงัน คือเกาะแห่งพลัง ก็เหมือนมีแรงดึงดูด หรือเป็น Magnet ทางการตลาด เป็นเรื่องของการเอาศาสตร์ Branding เข้ามาพลิกจากวิกฤตเป็นโอกาสที่ชัดเจน”

“เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือการวางกลยุทธ์ของการรับรู้ เพื่อก่อให้เกิดคุณค่าให้กับระบบการท่องเที่ยว ระบบเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคน สิ่งเหล่านี้ ชาวบ้านทำกันเองได้ แต่จะไม่เป็นระบบ หน้าที่ของเราจึงเป็นการสะท้อนความจริงให้เห็น หยิบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาพูดและสื่อสารให้มีเสน่ห์ สิ่งเหล่านี้เป็นการหยิบเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่มาและเปลี่ยนให้สามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับพื้นที่ได้อย่างสร้างสรรค์”

“ดังนั้น การไปทำงานกับชุมชน เพื่อสร้างนิยามใหม่ให้การท่องเที่ยวไทย จึงเป็นอีกหนึ่ง Passion ของเรา และมองว่าหน้าที่ของเราก็เป็นการทำงานเพื่อตอบแทนประเทศ ซึ่งในเรื่องของการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า GDP และรายได้ของประเทศไทย ที่มาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวของเรานับว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องยอมรับว่าเรามีทรัพยากรการท่องเที่ยว มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดีกว่าทุกประเทศ แต่อาจยังมีข้อจำกัดตรงที่การบริหารจัดการให้เป็นระบบ”

“และเมื่อมีการทำงานกับชุมชนจนทำความเข้าใจที่ตรงกัน ก็ทำให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยในทุกปีที่เกาะพะงันจะมีการจัดงานพระจันทร์หลากสี ซึ่งเราจัดเพื่อที่จะบอกว่าพลังชุมชนจะเป็น Key success ให้ เกาะพะงัน บริหารตนเองได้อย่างยั่งยืน จริงๆแล้ว เมื่อกลยุทธ์การท่องเที่ยวกำหนดได้ด้วยแนวคิด และ Value Proposition ในแง่ของจุดยืน เพื่อให้เกิดการนำไปปรับใช้ และทุกคนก็มี Accountability หรือความรับผิดชอบในการทำงานแต่ละส่วน และทุกส่วนเชื่อมกันได้ ตรงนี้เองจะทำให้เกิดพลัง”


ต่อยอดผลลัพธ์จาก Crisis Management สู่การวางจุดยืนใหม่ให้เกาะเต่า เป็นเกาะต้นแบบ พร้อมขับเคลื่อนสู่ Net Zero Tourism

มาถึงอีกหนึ่งเกาะที่ได้ชื่อว่าเป็น “สวรรค์ของนักดำน้ำ” ทั่วโลก นั่นคือ เกาะเต่า ที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ว่ายังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังเกาะเต่าจำนวนไม่น้อย ทว่า หนึ่งในรอยด่างพร้อยที่ทำให้เกาะเต่าเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวเหมือนเดิม คือ การเกิดคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า เมื่อปี 2557

และจากเรื่องร้ายนี้ ก็เป็นสาเหตุให้ เว็บไซต์ทางการของรัฐบาลอังกฤษ gov.uk ได้ยกกรณีเกาะเต่าขึ้นมาเพื่อเตือนประชาชนของตนเอง ให้ระมัดระวังในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ตราบใดที่ไทยไม่จัดการในเรื่องคดีที่นักท่องเที่ยวหญิงชาวอังกฤษโดนฆ่าเมื่อหลายปีก่อน

นอกจากนั้น เมื่อย้อนเวลากลับไปในช่วงที่เกิดคดีนี้ สื่อระดับโลกอย่าง The Sun ได้พาดหัวข่าวชัดเจนว่ามีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นที่เกาะเต่า และนำเสนอว่าเกาะเต่าเป็น The Dead Island in Thailand จากวิกฤตนี้เอง ที่นำสู่โซลูชั่นแก้ปัญหา เพื่อกู้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีงามของเกาะเต่ากลับคืนมาให้ได้

“สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นกับ เกาะเต่า อันเนื่องมาจากคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวเมื่อปี 2557 ทางออกของการกู้คืนชื่อเสียงของเกาะเต่าไม่ใช่เรื่องของการสร้าง Branding แต่สิ่งที่ต้องทำคือการไปหาว่าคดีที่เกิดการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่าเกิดจากแรงงานต่างด้าว ฆาตกรไม่ใช่คนไทย”

“ดังนั้น กรณีนี้คือการทำ Crisis Management และหน้าที่ของทุกภาคส่วน คือ การพยายามหาความจริงเพื่อมาไขคดีให้กระจ่างและทำให้เรื่องนี้คลี่คลาย และเมื่อเราตั้งใจหาคำตอบในเรื่องนี้ ทางรัฐบาลอังกฤษก็เห็นว่าทางการไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ และปรากฎว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายนี้ขึ้นมา เรามีการเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดให้ทุกร้านค้าในเกาะเต่าต้องมีกล้อง CCTV และทุกคนต้องมาช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับเกาะ”

“ขณะที่ ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อเกาะเต่าต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเรียนดำน้ำ กลุ่มนักท่องเที่ยวนี้จึงเป็นกลุ่มที่มีความหวงแหนและรักทรัพยากรธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะความสุขของการดำน้ำ คือ การได้เห็นธรรมชาติอันสมบูรณ์ใต้น้ำ ขณะที่ พลังในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ก็เกิดขึ้นที่เกาะเต่าหลายเรื่อง เช่น การเลิกให้ถุงพลาสติกของร้านสะดวกซื้อก็เกิดขึ้นครั้งแรกที่เกาะเต่า จนได้มีการนำไปเป็นทางปฏิบัติทั่วประเทศอย่างทุกวันนี้”

“ดังนั้น เกาะเต่าจึงเป็นเกาะที่สะท้อนเรื่องของการดูแล อนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้เป็นอันดับต้นๆของโลก และเกาะเต่าก็จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับประเทศด้วย ตามสมญานามที่เกาะเต่ามีในตอนนี้คือ The Island of Purity Drive in to Nature เพื่อสื่อสารว่าเกาะแห่งนี้เป็นเกาะแห่งความบริสุทธิ์ ทุกคนที่เข้ามาในเกาะนี้จึงต้องเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความเป็นบริสุทธิ์ของมัน”

“เมื่อเกาะเต่ามีจุดยืนที่ชัดเจนแล้ว เราจึงต่อยอดจัดเทศกาล Spotlight Koh Tao หรือเทศกาลฉายแสงเกาะเต่าขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อให้เห็นแนวทางที่ชัดเจนของเกาะเต่าว่าจะขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน จนเราทำเป็นเครือข่ายที่แข็งแรง และเกิดเป็นภาคีที่ 20 เกาะ มาร่วมมือกัน แล้วมาลงนามในปฏิญญาเกาะเต่า เพื่อทำความตกลงร่วมกันว่าเศรษฐกิจในเกาะไม่เหมือนกับการท่องเที่ยวทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการขยะ ที่เมื่อนักท่องเที่ยวไปที่เกาะเราเอาขยะไปแต่ตอนขากลับเราไม่ได้เอาขยะกลับมาด้วย แล้วการจัดการขยะต้องทำอย่างไรต่อ นี่คือความท้าทาย”

เกาะเต่า
“เรามีต้นแบบของสถานประกอบการบนเกาะเต่า ที่เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการด้วยแนวคิดความยั่งยืนที่ทำได้จริง คือ Ban’s Diving ที่เกาะเต่า ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะเต่า ก็ตัดสินใจสร้างระบบนิเวศของตัวเองเลย น้ำใช้ไม่มีก็ขุดบ่อเอง อาหารไม่มีก็ปลูกพืชแล้วเก็บมากิน และเมื่อมีขยะเกิดขึ้น ทาง Ban’s Diving ก็บริหารจัดการขยะด้วยแนวคิด Food waste อาหารที่เหลือจากการให้บริการลูกค้า จะมาแปรรูปเป็นปุ๋ย น้ำที่ใช้แล้วก็จะนำมาผ่านกระบวนการบำบัดแล้วนำมารดน้ำต้นไม้ ดังนั้น ที่นี่จึงกลายเป็นศูนย์เรียนรู้บนเกาะเต่าเรื่องการทำ Circular Economy ที่ทำได้ทั้งระบบ”

“ขณะที่ ปัญหาเรื่อง Overtourism หรือปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง โดยส่วนตัวมองว่าสถานการณ์นี้ดีกว่าการไม่มีนักท่องเที่ยว แต่สิ่งที่เราต้องทำเพื่อรับมือปัญหานี้ คือ โครงสร้างการบริหารจัดการในท้องถิ่น เป็นอย่างไร มีการบริหารจัดการที่ดีพอในการสร้าง Responsibility Tourism หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีจุดด้อยตรงนี้ ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี แน่นอนว่าปัญหา Overtourism จะสามารถจัดการได้ไม่ยากเลย”

ยกตัวอย่าง การนำ Data Driven Marketing มาช่วย อย่างถ้าเป็นเกาะต่างๆ เราสามารถเช็คข้อมูลนักท่องเที่ยวจากเรือที่ให้บริการรับนักท่องเที่ยวมายังเกาะได้ อย่างถ้ามีนักท่องเที่ยวมาช่วงวีคเอนจำนวนมาก ก็ต้องมีการประกาศมาตรการจำกัดนักท่องเที่ยว แล้วเกลี่ยไปวันธรรมดาหรือช่วยโลว์ซีซั่น หรือมาตรการการเก็บภาษีนักท่องเที่ยวในการมาเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นั้น ซึ่งถ้าทำได้ปัญหา Overtourism จะค่อยๆ บรรเทาลง”

“และการทำความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนได้รู้และเห็นตรงกันในฉากทัศน์ของความยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจก็เดินหน้าต่อไปได้ นักท่องเที่ยวมีความประทับใจเมื่อเดินทางมาท่องเที่ยว ประเทศชาติสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยรายได้ที่ได้จากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ที่เรามีน้อยสุด มีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะถ้าเห็นฉากทัศน์นี้ตรงกันแล้ว การพัฒนาภาคการท่องเที่ยวตามแนวทางของความยั่งยืนก็จะเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง”

“ขณะที่ จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาให้ภาคการท่องเที่ยวของไทย มองว่ามีการรับรู้และการนำแนวทางเรื่องการท่องเที่ยวยั่งยืนไปปรับใช้ในการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกฝ่ายตระหนักแล้วว่าถ้าไม่ทำ ไม่ปรับตัวในวันนี้ หายนะอาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน และความตระหนักนี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่ แต่ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดย่อมก็มีการปรับตัวไปในแนวทางนี้ด้วยเช่นกัน”


คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ

ความร่วมมือของทุกฝ่ายเพื่อทำงานในท้องถิ่น คือ กุญแจสำคัญไขสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวไทยได้อย่างยั่งยืน

เมื่อถามมุมมองในด้านการทำงานเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้เดินบนเส้นทางความยั่งยืนอย่างแท้จริง คุณโอลิเวอร์ ได้สื่อสารแบบตรงไปตรงมาว่า

“ที่ผ่านมา ผมพบว่าการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้กับผู้ชุมชนหรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ การจัดอบรมอาจไม่ได้ผลเท่าการลงพื้นที่ เพื่อไปสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพราะวิธีในการรู้ถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ต้องเจอจริงๆ คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และต้องปลูกจิตสำนึกให้กับผู้ประกอบการทุกคน ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่จะนำสู่ความเข้าใจที่ตรงกัน คือ การทำ Practice Based Activity ระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชุมชนในท้องถิ่น”

“ขณะที่ ถ้าเป็นการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ไม่ควรเป็นงานวิจัยที่ทำแล้วค่อยนำลงมาปรับใช้กับพื้นที่ เพราะคนในท้องถิ่นอาจไม่มีความรู้สึกร่วมด้วย สุดท้ายงานวิจัยนั้นก็จะเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง ดังนั้น ควรต้องเป็นงานวิจัยที่เมื่อมีทุนในการวิจัยมาแล้ว ก็นำมาหารือกับชุมชนหรือประชาคมในพื้นที่ และให้ทางภาคผู้ประกอบการท้องถิ่นมีส่วนร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างในทีมวิจัย หรือกลุ่มเป้าหมายที่จะนำงานวิจัยนั้นไปปรับใช้ งานวิจัยนี้จะมีคุณค่าและนำไปปรับใช้ได้จริงทันที เพราะเจ้าของงานวิจัยจะไม่ใช่แค่ตัวนักวิจัย แต่เป็นคนในชุมชนที่รู้สึกว่าเขามีความรับผิดชอบร่วมกันกับสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับพื้นที่ และนักวิชาการ หรือ นักวิจัย ต้องมีความเข้าใจ และกลมกลืนไปกับชาวบ้านหรือผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้มากพอ มิเช่นนั้น คนในพื้นที่เมื่อเห็นกลุ่มนักวิชาการ นักวิจัย เขาจะมองว่าเป็นผู้ที่มีความรู้สูง การทำงานด้วยกันจึงเกิดขึ้นได้ลำบาก”

“เนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะต่างกับผู้ประกอบการประเภทอื่น พวกเขาจะมีความผูกพันกับชุมชน ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์สำคัญ ที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านการสนับสนุนงานวิจัยต้องมีความเข้าใจว่ากุญแจสำคัญที่จะทำงานวิจัยที่ได้ประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจริงๆ คือ การทำความเข้าใจศาสตร์ของการเปิดใจ และคำนึงก่อนว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เปิดใจ เพราะเมื่อไรที่เราไม่ได้เปิดใจหรือเชื่อมโยงกับผู้นำทางความคิดในชุมชน การทำงานวิจัยนั้นก็ยากที่จะได้รับความร่วมมือและสามารถนำผลจากการวิจัยนั้นไปปรับใช้ได้จริง”  

และดังที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่าอีกหนึ่งบทบาทของ คุณโอเลิเวอร์ คือ การเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิ ของแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ซึ่งคุณโอลิเวอร์ ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยด้วยว่า

“ขณะเดียวกัน การเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชนหรือท้องถิ่นหลายแห่งในเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยว ทำให้ได้รู้จักกับแผนการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ของ บพข. ซึ่งการมีหน่วยงานอย่าง บพข. ที่มาสนับสนุนทุนให้กับผู้ประกอบการ นักวิจัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจของไทย ผมมองว่ามีประโยชน์มาก”

“อย่างไรก็ดี บพข. ต้องไม่ใช่หน่วยงานที่มา Empower อย่างเดียว แต่ต้องเป็นหน่วยงานที่มาประสานและทำงานร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในท้องถิ่นด้วย เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าการทำวิจัยด้านการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ได้จริง จำเป็นอย่างยิ่งที่ทีมนักวิจัย นักวิชาการ ต้องลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจสื่อสารถึงการทำงานวิจัยนั้นตั้งแต่ต้น และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านผู้ประกอบการท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการได้นำงานวิจัยไปพัฒนาบ้านเกิด พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ให้ดีขึ้น เพราะอย่าลืมว่าการจับมือกัน การร่วมมือกัน ย่อมทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”

“จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานให้กับชุมชน ท้องถิ่น โดยผมลงพื้นที่ไปด้วยความตั้งใจไปช่วยเหลือชุมชนและท้องถิ่นด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวจริงๆ แบบไม่ใช่ในฐานะผู้บริหารของบริษัทแต่ลงไปในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่อยากเห็นทุกแหล่งท่องเที่ยวของไทยมีการบริหารจัดการอย่างมีระบบบนแนวทางสู่ความยั่งยืน ซึ่งทางภาคหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะสอบถามว่าผมคิดค่าใช้จ่ายในการเป็นที่ปรึกษาหรือเปล่า ผมก็ตอบชัดเจนว่าผมไม่ได้ลงพื้นที่มาในฐานะผู้บริหารองค์กรแต่ผมลงพื้นที่มาในฐานะคนไทย ที่อยากเห็นการท่องเที่ยวในพื้นที่นี้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เรายังพูดเล่นๆ กันว่าผมขอค่าจ้างเป็นปลาเค็มหนึ่งตัวก็แล้วกัน และเราก็เรียกการตกลงกันในครั้งนั้นว่าเป็นสนธิสัญญาปลาเค็ม ทำให้ทุกปีผมได้กินปลาเค็มที่อร่อยและดีที่สุดจากเกาะพะงันมาโดยตลอด”

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *