ผลงานเด่น

ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต : เพิ่มแต้มต่อ SME ด้านอาหาร ด้วย Research – Based Learning (RBL)

การเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน หรือ Research – Based Learning: RBL เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างความเข้าใจโดยการปฏิบัติจริง เผชิญเหตุการณ์จริง สร้างสรรค์ผลงานจากกระบวนการคิดและการทำที่เป็นระบบ เพื่อให้ผู้เรียนจะใช้กระบวนการวิจัยในการแก้ปัญหา ค้นหาตอบจากการสืบค้น วิเคราะห์ข้อมูล และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง นอกจากจะเป็นรูปแบบศึกษาที่ยอมรับการในวงการศึกษายุคใหม่แล้ว RBL ยังถูกนำมาใช้กับการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SME ของไทยด้วย

เครือข่ายศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต
การดำเนินงานของ Food Innopolis

ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต”  คือหนึ่งในกิจกรรมของ  โครงการเมืองนวัตกรมอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีเป้าหมายหลักคือการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านอาหารแบบครบวงจร รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร โดยศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคตนี้ เป็นการนำกระบวนการ RBL มาใช้เป็นกระบวนการสร้างระบบนิเวศการวิจัยที่เหมาะสมต่อการทำวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ให้กับ SMEs ในอุตสาหกรรมอาหารที่เข้าร่วมโครงการ

ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ

คุณอัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และรักษาการรองผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีด้านพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กล่าวว่า ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต อยู่ภายใต้โครงการ “การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสร้างแต้มต่อทางธุรกิจด้วยกระบวนการ RBL” ได้รับทุนสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ Startup ซึ่งผลิตหรือจำหน่ายสินค้าด้านอาหารที่มีความพร้อมในด้านการผลิต การตลาดและการลงทุน รวมถึงความมุ่งมั่นจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจของตนเองอย่างจริงจัง ที่สมัครและผ่านการคัดเลือกเมื่อปี 2564  จำนวน 90 ราย

“เราจะใช้กิจกรรมวิจัยเชิงปฏิบัติการ RBL มาทำให้ภาพของผู้ประกอบการชัดเจนเสียก่อน พอเราเห็นภาพเขาชัด เราก็จะบอกเขาได้ว่า สิ่งที่เขาทำมันน่าสนใจหรือควรทำหรือไม่ เพราะบางเรื่องที่เขาต้องการทำอาจมีคนทำมาแล้ว เราก็จะแนะนำให้ไปทำเรื่องอื่นที่น่าจะเหมาะสมและเป็นประโยชน์กว่า    คือเราจะได้ให้คำปรึกษาได้”

ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ จากศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะผู้ร่วมวิจัย และเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรการสัมมนาเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการวิจัยนี้กล่าวว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการนี้จะเป็นให้ความรู้และทักษะด้าน Branding Marketing และ Production Design กับผู้ประกอบธุรกิจในด้านอาหารที่อาศัยการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการวิจัย โดยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการจะมีตั้งแต่การสร้างเครือข่ายที่จะเป็นแต้มต่อทางธุรกิจ การศึกษาตัวอย่างความสำเร็จของการใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา รวมถึงมีนักวิจัยเข้าไปทำงานร่วมกับเขาในการนำปัญหาหรือความต้องการของผู้ประกอบการมาพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยเชิงปฏิบัติการที่มีเป้าหมายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

คุณอัครวิทย์ หัวหน้าโครงการ กล่าวเสริมว่า หลังจากการอบรมเชิงทฤษฎีในเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการจะมีการ RBL ผ่านกิจกรรม Design Thinking ให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาอาหารใหม่ หรืออาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) ที่ผ่านการคัดเลือก ได้มีกิจกรรมเพื่อวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างการรับรู้ การสร้างแบรนด์ รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค โดยจะได้ลงมือปฏิบัติจริงจากตัวผลิตภัณฑ์หรือความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย ที่จะมีนักวิจัยหรือนักพัฒนาเข้าร่วมพัฒนาให้เป็นโจทย์วิจัยเชิงปฏิบัติการชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถใช้ห้องปฏิบัติการและนักวิจัยของ Food Innopolis ได้อย่างเต็มที่

ผู้ประกอบการศึกษาดูงาน และทำวิจัยที่ Food Innopolis

“หลังจากสิ้นสุดโครงการ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถพัฒนาสูตรต้นแบบของผลิตภัณฑ์, อาหารใหม่ ๆ หรือ แนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์เดิมที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริงไม่น้อยกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ รวมถึงจะได้แนวทางการวิจัยอาหารฟังก์ชั่น หรือ อาหารใหม่ ที่เป็นไปตามแนวทางการขึ้นทะเบียนของ อย. ไม่น้อยกว่า 5 ราย”

คุณอัครวิทย์ สรุปว่า การใช้กระบวนการ RBL ผ่านกิจกรรมวิจัยเชิงปฏิบัติการให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้านผลิตภัณฑ์อาหารครั้งนี้ จะทำให้ผู้ร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมที่เป็นระบบ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง ให้ตอบโจทย์ธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ที่นอกจากช่วยเพิ่มรายได้แล้ว ยังเป็นเพิ่มขีดความสามารถ อันจะเป็นแต้มต่อสำคัญของการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารยุคปัจจุบัน

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *