กิจกรรม

มช. มุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารภาคเหนือสร้างฝันผู้ประกอบการให้เป็นจริง

มช. เตรียมขยายกำลังการผลิตให้โรงงานต้นแบบ ดันการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารภาคเหนือ กับโครงการสนับสนุนทุนโดย บพข. หวังสร้างฝันผู้ประกอบการภาคเหนือขยายการผลิตต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
โรงงานต้นแบบเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารภาคเหนือ

ผศ.ดร.สุจินดา ศรีวัฒนะ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัยจากการสนับสนุนของ บพข. ได้แก่ “โครงการเพิ่มศักยภาพโรงงานต้นแบบในระดับขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมเกษตรด้วยเครื่องจักรอุปกรณ์ระดับขยายสเกลเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ และเพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการระดับสาธิตการขยายสเกลด้านอุตสาหกรรมอาหารรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และ “โครงการเพิ่มคุณภาพและมูลค่าให้กับสารสกัดสำคัญในวัตถุดิบทางการเกษตร” ที่มุ่งเน้นในการเพิ่มคุณภาพและมูลค่าให้กับสารสำคัญในวัตถุดิบทางการเกษตรในเขตภาคเหนือ

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผอ. บพข. และ คณะอนุกรรมการแผนงานอาหารมูลค่าสูง เข้าเยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการฯ โดยมี รศ. ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดี และ ผศ.ดร.สุจินดา ศรีวัฒนะ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565

โดย บพข. ได้ให้การสนับสนุนครุภัณฑ์ที่จะนำมาติดตั้งภายในโรงงานต้นแบบคณะอุตสาหกรรมเกษตร (ส่วนต่อขยาย)  ชุดเครื่องจักรที่จะให้บริการภายใต้ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร (Agro-Biz) ได้แก่ ชุดผลิตแคปซูลและอัดเม็ด ชุดผลิตแบบลดขนาด ชุดผลิตอาหารข้นหนืด และชุดเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพโรงงานต้นแบบ

บพข. สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมเกษตร มุ่งส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารภาคเหนือ

ชุดผลิตแคปซูลและอัดเม็ด

ชุดเครื่องบดลดขนาด

ชุดผลิตอาหารข้นหนืด

ชุดเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์

และเครื่องกลั่นแยกสารระดับโมเลกุล (Molecular Distillation Equipment ;Feec Rate 0.1 – 4 L./HR) เครื่องระเหยแบบลดความดัน (Rotary Vacuum Evapolator ;Evapolating Flask ไม่น้อยกว่า 10 L. เครื่องสกัดของแข็งด้วยของเหลว (Solid – Liquid Extractor; Solid Matter : 1-5 KG. Liquid Charge; 5 – 15 L.) และเครื่องแยกสารสกัดให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีโครมาโทกราฟี (Preparative High Performance Liquid Chromatography) โดยใช้ Packed Column ที่มีตัวดูดซับในคอลัมภ์แยก ภายใต้โครงการเพิ่มคุณภาพและมูลค่าให้กับสารสกัดฯ

เพื่อให้การบริการการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านวิชาการ การปรับปรุงพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร ได้มีการสร้างความร่วมมือผ่านเครือข่ายคณะอุตสาหกรรมเกษตร  อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ และมหาวิทยาลัยในเครือข่าย Food Innopolis ทั่วประเทศ ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อย่างเป็นรูปธรรม

ติดตามรายละเอียด ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร (Agro-Biz) ได้ที่ Facebook.com/ABSC.CMU

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *