ข่าว

บพข. ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

บพข. จับมือ สกสว. สมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย สมาคมสปาไทย และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านอุตสาหกรรมบริการสปาไทย ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. พร้อมด้วย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการ บพข. ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บพข. และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านอุตสาหกรรมบริการสปาไทย ด้วยงานวิจัยท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดขึ้น ณ สถาปันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตึก CP ALL Academy ชั้น 16 ห้อง Auditorium เมื่อวันที่ 29 พฤษภคม 2566

การลงนามฯ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสปา ให้สอดคล้องกับความต้องการด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบการจัดการงานวิจัย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสปาอย่างเป็นระบบ โดยนำองค์ความรู้และผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ

โดยมีหน่วยงานร่วมลงนามจำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย รศ.ดร.สิรีชัย เสรี ผู้อำนวยการ บพข. 2) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส และประธานคณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สกสว. 3) สมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย นำโดย คุณชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์ฯ 4) สมาคมสปาไทย นำโดย คุณสุนัย วชิรวราการ นายกสมาคมฯ และ 5) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นำโดย รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

รศ. ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. มีบทบาทสำคัญในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านอุตสาหกรรมบริการสปา ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิต ภาคการบริการ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ เพื่อรักษาและขยายความสำเร็จของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา เราต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสที่เกิดขึ้นใหม่ และคว้าโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม

โดยการร่วมมือกันครั้งนี้ บพข. จะร่วมพัฒนาโจทย์วิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านบริการสปา โดยผลักดันผลงานวิจัยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การใช้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการสปา สมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย และสมาคมสปาไทย พร้อมทั้งจะเป็น Facilitator ในการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการสปา สมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย สมาคมสปาไทย และนักวิจัยจากสถาบันการศึกษา กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ รวมถึง บพข. จะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมบริการสปา ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมบริการสปา ที่ไม่เพียงดูแลการจัดการประสบการณ์ของผู้มาเยือนเท่านั้น แต่ยังต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติของเราสำหรับคนรุ่นต่อไปด้วย

ด้าน ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช กล่าวว่า สกสว. ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จึงได้บรรจุแผน “การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่าสร้างความยั่งยืนและสร้างรายได้ของประเทศ” ให้เป็นแผนงานสำคัญของแผนด้าน ววน. มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น ใช้ผลงานวิจัยองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นหนึ่ง ในผลสัมฤทธิ์สำคัญที่ถูกระบุไว้ในแผนด้าน ววน.

ภายหลังพิธีลงนามฯ ได้มีการมอบรางวัลสปาต้นแบบตามธาตุเจ้าเรือน ภายใต้โครงการ “การพัฒนาต้นแบบการบริการสปาเพื่อสุขภาพด้วยศาสตร์ภูมิปัญญาไทย ภายใต้ชุดโครงการ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วยมาตรฐานสากลด้วยภูมิปัญญาไทย และการสร้างความผูกพันในการสร้างเสริมสุขภาพระหว่างและภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ให้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 7 สถานประกอบการ ได้แก่ 1) ฟ้าล้านนา สปา 2) ลานนาคำ สปา 3) ศิรา สปา 4) อ่าวนางปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ต แอนด์ สปา 5) เฮลท์ ล้านนา สปา 6) เชียงใหม่ สปามันตรา และ 7) โอเอซิส สปา

บพข. พร้อมสนุนสนับให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมบริการสปา ผ่านกลไกการวิจัยที่แข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยต่อไป

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *