ผลงานเด่น

รีไซเคิลแบตเตอรี่แบบใช้แล้วทิ้ง เป็นแบตเตอรี่แบบอัดประจุซ้ำได้ นวัตกรรมใหม่ยกระดับการแข่งขันของประเทศ

ปัจจุบันมีความต้องการใช้แบตเตอรี่หลากหลายในธุรกิจ แบตเตอรี่มีแบบไหนและถูกใช้ในงานในรูปแบบใดบ้าง

แบตเตอรี่มีหลายชนิดมาก ส่วนใหญ่เราเรียกว่า “ถ่านไฟฉาย” หรือ อัลคาไลน์แบตเตอรี่ ที่ใช้สำหรับเอาไว้ในรีโมทต่างๆ ทั้งหมดเป็นแบตเตอรี่แบบใช้ได้ครั้งเดียว ใช้แล้วต้องทิ้ง แล้วไปซื้อใหม่ตามร้านสะดวกซื้อ แบตเตอรี่พวกนี้มีส่วนผสมเป็นพวกสังกะสี ข้างในมีแมงกานีส คาร์บอน อีกประเภทนึง เป็นแบตเตอรี่ในมือถือ ที่จะเป็นแบตเตอรี่ลิเทียม (Li) ไอออน เป็นแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์ตประจุซ้ำได้ 

การที่ขยะจากแบตเตอรี่ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมีจำนวนมากจะก่อให้เกิดปัญหาอะไร

ปัญหาของแบตเตอรี่ใช้แล้วทิ้ง มันทำให้เกิดขยะ ไม่ใช่ขยะธรรมดา แต่เป็นขยะอันตราย ตอนนี้ขยะแบตเตอรี่มีเยอะมาก จากแต่ละบ้าน ทิ้งมารวมๆ กัน การสำรวจได้ 5 หมื่นตัน/ปี ตามเมืองนอกต้องไปทิ้งให้ถูกจุด และจำแนกขยะ เพื่อจะนำไปจัดการให้ถูกต้อง แต่ในไทยยังไม่มีการแยกขยะประเภทนี้ที่ชัดเจน สุดท้ายพอไปถึงหน่วยงานที่จัดเก็บเขาก็ต้องแยกเอาแบตเตอรี่ออกมา เพื่อไปจัดการให้ถูกต้องตามหลักการ โดยการนำไปฝังกลบ ซึ่งต้องไปหาพื้นที่ฝังกลบที่ได้มาตรฐาน ต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลชุมชน ห่างไกลแหล่งน้ำ เพราะถ้ามีน้ำท่วมจะได้ไม่ไปชะล้างเอาสารพิษจากแบตเตอรี่ไปสู่แหล่งน้ำ ถ้าทำถูกวิธีก็จะปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่พื้นที่ฝังกลบก็จะไม่สามารถนำไปทำอย่างอื่นต่อได้  ประเทศจะเสียพื้นที่ในการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นไป

จาก pain point เหล่านี้สามารถเอาความรู้ไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้เป็นแบบใหม่ได้อย่างไร

ไอเดียของเราก็คือ ถ้าเราเปลี่ยนจากถ่านไฟฉายธรรมดาที่ใช้แล้วทิ้ง กลายเป็นถ่านไฟฉายที่ชาร์ตแล้วสามารถใช้ซ้ำได้เหมือนกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจะเป็นอย่างไร ซึ่งจริงๆ ก็มีแบตเตอรี่ที่ชาร์ตได้ก็มีอยู่ แต่เป็นตระกูลลิเทียม ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง แต่ราคาสูงตามไปด้วย ข้อเสียอีกข้อคือ ลิเทียม ที่ด้านในจะมีความเป็นพิษมากกว่าสังกะสี และสามารถระเบิดได้ อย่างที่เคยได้ยินว่าเราเอาแบตเตอรี่ หรือ พาวเวอร์แบงค์ หรือ มือถือ ไปไว้ในที่ร้อนๆ ในรถยนต์ ตากแดด ก็เกิดการระเบิดขึ้นมา

ที่ทีมงานของเราทำ คือ เอาแบตเตอรี่ถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วทิ้ง เอากลับมาทำเป็นแบตเตอรี่ถ่านไฟฉายแบบชาร์ตได้ แบบที่ยังใช้สังกะสีไอออน แม้ประสิทธิภาพจะด้อยกว่า แต่ปลอดภัย ที่สำคัญสามารถแกะแบตเตอรี่เก่าออกมาแล้วรีไซเคิลได้ เกือบ 100% จนเกิดอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยไม่ระเบิด

ยิ่งไปกว่านั้นเรายังคิดจะเอางานวิจัยนี้ ไปขยายเป็นโรงงานต้นแบบขึ้นมา เพื่อจะทำให้เกิดแบตเตอรี่ที่จะสามารถเอาไปใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ได้ ปัจจุบันเรากำลังจะลงทุนในเขตนวัตกรรม EECI อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เราจะสร้างสายการผลิตต้นแบบแบตเตอรี่สังกะสีไอออน ซึ่งจะนำเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยไปขยายสู่ขนาดอุตสาหกรรม ถ้าสำเร็จเราจะสามารถที่จะสร้างอุตสาหกรรม แล้วเอาขยะแบตเตอรี่มารีไซเคิลได้ 

แบตเตอรี่จากงานวิจัยสามารถนำไปใช้ในรูปแบบใดได้บ้าง

ข้อดีของแบตเตอรี่แบบใหม่นี้คือความปลอดภัยสูง และการสามารถชาร์ตซ้ำได้ แต่มีจุดด้อยคือมีน้ำหนักที่ค่อนข้างสูง จึงเหมาะกับงานที่เน้นความปลอดภัยสูง และใช้งานอยู่กับที่ เช่นนำไปใช้ในโซล่าฟาร์ม โซล่าเซลล์รับแสงแดดในตอนกลางวัน ระหว่างที่มีแสงก็ชาร์ตไฟเข้าแบตเตอรี่ แล้วเอาไปใช้งานตอนกลางคืน หรือใช้ร่วมกับพวก solar roof ในบ้านพักอาศัยก็ได้ ถ้าแบตสามารถใช้งานได้ 2-3 ปี เราก็ต้องไปคิด eco system ขึ้นมา เพื่อที่ว่าเราจะผลิตแบตเตอรี่ด้วย และสามารถมี eco system นำแบตเตอรี่กลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้ เป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้านแบตเตอรี่

งานวิจัยนี้จะสร้างผลกระทบต่อประเทศได้อย่างไร

ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลก เริ่มที่จะมองเรื่องแบตเตอรี่สังกะสีไอออน แต่ทางสวทช.และจุฬา มองว่าเราจะทำแบบเดิม ๆ ไม่ได้ เราจะไปรอให้ต่างชาติทำให้เสร็จก่อนแล้วค่อยวิจัยตามไม่ได้แล้ว เราต้องคิดทำล่วงหน้า อย่างน้อยก็ต้องทำไปพร้อมกับเขา หลายครั้งมีคนถามนักวิจัยว่ายังไม่เห็นมีใครใช้แล้วเราทำอะไร ทำไปทำไม แต่เราต้องคิดกลับกันว่านี้เป็นโอกาส ถ้าเราไปทำตามที่เขาทำกัน จะไม่มีอะไรที่จะไปแข่งขันกับคนอื่นได้ ศักยภาพของประเทศไทยจะแข่งขันเชิงปริมาณไม่ได้ เราสู้ประเทศจีนไม่ได้แน่ แต่ประเทศไทยเราต้องไปดูเรื่องของนวัตกรรม เราจึงมองตัวนี้แล้วดักไปข้างหน้า ว่า เทคโนโลยีแบตเตอรี่สังกะสีไอออนจะเป็นเทคโนโลยีในอนาคต

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *