ข่าว

บพข. ร่วมยินดีความสำเร็จ BATT SWAP ตอบโจทย์ Zero Emission Vehicle นำไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

โครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย หรือ Battery Swapping Platform – BATT SWAP

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด “การทดสอบภาคสนามจากผลงานโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย” โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ ศ.ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล อนุกรรมการแผนงานยานยนต์แห่งอนาคต หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานกลยุทธ์องค์กร ร่วมแสดงความยินดี ณ ห้อง SD601 ชั้น 6 อาคารสราญวิทย์ (อาคาร 12) และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย เป็นตัวอย่างของความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลายและจำเป็นทั้งสิ้น ที่มาช่วยส่งเสริม สนับสนุน และทำให้เกิดความสำเร็จใหม่ในครั้งนี้ เราจะได้เห็นอุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งมีอนาคตมาก เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์จำนวนมาก ปัญหาที่ตามมาคือเกิดมลพิษในอากาศ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เกิดการทำอุตสาหกรรมแพ็กแบตเตอรี่ที่สามารถใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ได้หลายยี่ห้อ เป็นก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการขายความรู้ ขายวิทยาศาสตร์ ขายเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดรายได้สูงเข้าสู่ประเทศ กระทรวง อว. ในฐานะรัฐบาลจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวไปสู่ระดับโลก เป็นกระทรวงหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยบนพื้นฐานเศรษฐกิจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ประเทศไทยต้องไม่มุ่งซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องมุ่งซื้อเทคโนโลยีมาเพื่อศึกษา พัฒนา และสามารถส่งออกเทคโนโลยีที่ผลิตและพัฒนาจากฝีมือคนไทยไปสู่นานาชาติ สร้างอาชีพที่มีรายได้สูงให้คนไทย การพัฒนาโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทยจนสามารถเข้าสู่การทดสอบภาคสนามได้ ถือเป็นอีกความสำเร็จหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจ และหวังว่านักวิจัย นักวิชาการ และทุกหน่วยงานจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทยให้ประสบความสำเร็จต่อไป

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

  ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า วันนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการทดสอบการขับเคลื่อนระบบแบตเตอรี่มาตรฐานสำหรับมอเตอร์ไซค์ เนื่องจาก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้งานมอเตอร์ไซค์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในปัจจุบันได้มีนโยบายของโลกที่เน้นการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น มอเตอร์ไซค์เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เราต้องมุ่งพัฒนาให้ตอบโจทย์นโยบายดังกล่าว เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าจึงเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เราจึงต้องเร่งพัฒนามาตรฐานใหม่สำหรับระบบแบตเตอร์รี่มอเตอร์ไซค์ในประเทศไทย เพื่อเป็นมาตรฐานใหม่ของโลกต่อไปได้

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว.

จากการที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน โดยการผลักดันการดำเนินการให้เกิดการวิจัยพัฒนาด้านชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงการสร้างความสามารถในการผลิตที่เป็นมาตรฐานและมีคุณภาพ จักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความสนใจอย่างสูง จากจำนวนการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ในประเทศ สุงถึง 21,423,877 คัน และยอดการผลิตกว่า 2 ล้านคันต่อปี โดยแบ่งเป็นขายในประเทศในสัดส่วนประมาณ 75% ส่งออกประมาณ 25% แต่สัดส่วนของตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศอยู่น้อยมาก ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ยังมีราคาสูง ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการการใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งยังมีผู้ผลิตค่อนข้างน้อยจากทั้งสาเหตุของการขาดเทคโนโลยีในประเทศ จึงเป็นที่มาของการวิจัยพัฒนาและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับจักรยานยนต์ไฟฟ้า

งานวิจัยนี้มีเป้าหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ของประเทศไทย โดย
การสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญในระบบแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้แก่การวิจัยพัฒนาแพ็กแบตเตอรี่ ระบบควบคุมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ระบบประจุไฟฟ้า ผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และผู้ผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า และผู้ให้บริการสถานีประจุไฟฟ้าไทย 9 หน่วยงาน ได้แก่ บพข. ในฐานะผู้ให้ทุนวิจัยและพัฒนา บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และบริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ให้ทุนร่วม รวมทั้งดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้ง 9 หน่วยงานร่วมกันผลักดันให้เกิดมาตรฐานเทคนิคกลางระหว่างแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ตู้ประจุไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการด้านแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และตู้ประจุไฟฟ้าในแต่ละราย สามารถดำเนินการระหว่างกันได้ผ่านมาตรฐานกลางที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต การถือครองมอเตอร์ไซค์ แพ็กและสถานีประจุไฟฟ้า มุ่งหวังว่าจะส่งผลให้เกิดการใช้งานยานยนต์ที่สะดวกอย่างแพร่หลายและเกิดอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตนเองได้ภายในประเทศ โดยในโครงการได้มีต้นแบบเกิดขึ้น คือ ต้นแบบแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยน 1 รุ่น ที่ใช้งานกับ ต้นแบบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2 รุ่น 2 ยี่ห้อ และต้นแบบสถานีสับเปลี่ยน 3 สถานี ซึ่งติดตั้งสถานีชาร์จที่บริเวณหน้าศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ปั๊มน้ำมันบางจาก เอกมัย-รามอินทรา คู่ขนาน 4 กรุงเทพมหานคร และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี โดยจากนี้จะทดสอบต้นแบบทั้งหมดที่พัฒนาจากข้อกำหนดร่วมในสภาวะการใช้งานจริง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะความเป็นไปได้ในการพัฒนาแพล็ตฟอร์มสำหรับประเทศไทยต่อไป

เครดิตข่าวจาก :

https://www.mhesi.go.th/index.php/pr-executive-news/9052-zero-emission-vehicle.html

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *