กิจกรรม

บพข. ร่วมงาน SITE2023 แนะนำทุนใหม่ มุ่งผลักดันประเทศสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs)

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย คุณจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ขนาดใหญ่ Innovation Driven Enterprises และเจ้าหน้าที่ ร่วมงาน สตาร์ทอัพและอินโนเวชัน ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2023 (STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2023) หรือ SITE 2023 จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2566

งานนี้ คุณจันทิรา ได้ร่วมแนะนำแผนการให้ทุนรูปแบบใหม่ของ บพข. ในกิจกรรมเสวนาภายใต้หัวข้อ การเชื่อมโยงกลไกสนับสนุนทุนนวัตกรรมของภาครัฐสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยได้พูดถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการให้ทุนว่า “บพข. เป็นหน่วยงานให้ทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้งานวิจัยที่อยู่ในระดับห้องฏิบัตการสามารถขยายสเกลและออกสู่ตลาดได้สำเร็จ โดยเรามุ่งเน้นให้ทุนในโครงการที่มีความพร้อมของเทคโนยี หรือที่เรียกว่า TRL (Technology Readiness Levels) ตั้งแต่ 4 ขึ้นไป เรามีแผนงานครอบคลุม 8 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้เแก่ 1) อุตสาหกรรมอาหารมูลค่าสูง 2) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3) อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ 4) อุตสาหกรรมพลัง เคมีและวัสดุชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต 6) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และระบบราง 7) อุตสาหกรรมดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ 8) อุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจาก บพข. นี้ยังมีกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยอีก 4 แผนงาน คือ แผนงานด้านความร่วมมือนานาชาติ หรือ Global Partnership แผนงานด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หรือ NQI (National Quality Infrastructure) แผนงานด้านแพลตฟอร์มการบริหารจัดการเพื่อเร่งการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ออกสู่เชิงพาณิชย์ (Deep Science and Technology Accelerator Platform) และแผนงานน้องใหม่ที่เราเข้ามาช่วยดูแลในฐานะประธานอนุกรรมแผนงาน คือ แผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ขนาดใหญ่ Innovation Driven Enterprises หรือเราเรียกสั้น ๆ ว่า แผนงาน IDEs โดยแผนงานนี้จะมีรูปแบบการให้ทุนที่แตกต่างไปจากแผนงานอื่น ๆ ของ บพข. คือ เราจะไม่ได้ให้ทุนสนับสนุนไปที่บริษัท (SML) โดยตรง แต่จะให้ทุนไปที่ Intermediary หรือ ตัวกลาง ที่ช่วยสนับสนุนและร่วมจัดทำแผนการยุทธศาสตร์ ออกแบบโครงสร้างร่วมกับ IDEs และเชื่อมโยง IDEs กับ IBDS (Innovation Business Development Service) ซึ่งเป็นหน่วยให้บริการการพัฒนานวัตกรรม”

คุณจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ขนาดใหญ่ Innovation Driven Enterprises

คุณจันทิรา กล่าวเสริมว่า “ทุนนี้มุ่งเน้นการยกระดับบริษัทเอกชนขนาด S M และ L ที่มีรายได้ต่อปีระหว่าง 100 – 1,000 ล้านบาท ให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปสู่ IDE โดยใช้นวัตกรรมและกลไกการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับ SML ผ่านหน่วยงานที่เป็นคนกลาง (intermediary) และหน่วยให้บริการพัฒนานวัตกรรม (IBDS) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่จะมาช่วยพัฒนาบริษัท SML ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี หรืออย่างน้อย 20% โดยวัดผลจากปีที่ 1 เทียบกับปีที่ 3 โดยหน้าที่หลักของ intermediary และ IBDS คือการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมให้กับ IDE ได้แก่ นวัตกรรมสินค้าหรือบริการใหม่ (Product Innovation) นวัตกรรมกระบวนการผลิต (Process Innovation) การตลาด (Market Innovation) และการบริหารองค์กร (Organization Innovation) ซึ่ง บพข. ได้เปิดรับข้อเสนอโครงการทุนพัฒนา IDEs ครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว และได้เริ่ม kick-off project โดยจัดให้มีการเชื่อมโยงกันระหว่าง intermediary และ SML ซึ่งขณะนี้มีจำนวน intermediary 18 แห่ง และจำนวน SML กว่า 100 บริษัท ที่เข้าร่วมโครงการและได้เชื่อมโยงกันแล้ว”

นอกจากการเข้าร่วมกิจกรรมเสวนา บพข. ยังได้ร่วมออกบูธประชาสัมพันธ์ทุนวิจัย พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางในการขอรับทุนวิจัยสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการ scale up ธุรกิจจากระดับห้องปฏิบัติการ เพื่อเข้าสู่ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากภาคเอกชนที่มาร่วมงานเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ในงานยังมีบริษัทที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. เพื่อพัฒนานวัตกรรมมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถออกสู่ตลาดได้สำเร็จ มาร่วมออกบูธแสดงนวัตกรรมกับทาง NIA อาทิ ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด ผู้ผลิตกาแฟชาวไทยภูเขา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวไทยภูเขาที่ปลูกกาแฟ และต้องการที่จะทำให้กาแฟที่มาจากเกษตรกรชาวไทยภูเขามีคุณภาพเทียบเท่ากับกาแฟของต่างประเทศ โดยงานนี้ทางบริษัทได้นำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสารสกัดเนื้อผลกาแฟ “Coffogenic” ผลิตจากเปลือกผลเชอรี่กาแฟ นวัตกรรมใหม่ที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน และ บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด ผู้เป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรจุฬาฯ เจ้าแรก ด้านการผลิตเส้นโปรตีนไข่ขาว โดยทีมวิจัยซึ่งเป็นนักกำหนดอาหารโดยตรง ซึ่งงานนี้ บริษัทฯ ได้นำผลิตภัณฑ์เส้นโปรตีนไข่ขาวมาร่วมจัดแสดง ภายใต้แบรนด์ “Eggyday”

บพข. กำลังจะเปิดรับข้อเสนอโครงการแผนงาน IDEs ปีงบประมาณ 2567 ในช่วงต้นเดือนกรฎาคมนี้ ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุน สามารถเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงแนวทางการสนับสนุนทุน บพข. ภายใต้แผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ขนาดใหญ่ Innovation Driven Enterprises ได้ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 – 12.00 น. ผ่านช่องทาง Zoom cloud meeting, Facebook live, และ YouTube steaming

ลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/31WUPQpzvrfzKRef7 วันนี้ ถึง 30 มิถุนายน ศกนี้

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *