ผลงานเด่น

นวัตกรรมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ

บพข. ผสานความร่วมภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โมเดลธุรกิจ รวมทั้งแพลตฟอร์มและระบบรับรองมารฐาน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการช่วยป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและรักษาทรัพยากรชาติได้อย่างยั่งยืน

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy : CE) มุ่งมั่นทำงานเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ภายใต้ชื่อ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงถึงการวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้ได้มากและนานที่สุด โดย บพข. ได้สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาธุรกิจรูปแบบความร่วมมือใน Value Chain ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแพลตฟอร์มและปัจจัยเอื้อ เช่น การสร้างระบบรับรองมารตฐานด้านผลิตภัณฑ์หมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจหมุนเวียนและเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมทั้งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการช่วยป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและรักษาทรัพยากรชาติได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2564-2570) หมุดหมายที่ 10

บพข. ภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้จัดสรรทุนสนับสนุนโครงการวิจัยด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหลายโครงการ รวมทั้งได้มีการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมและติดตามความก้าวหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการต่าง ๆ สามารถแบ่งเป็น 4 แผนงานย่อย ได้แก่

1. แพลตฟอร์มการพัฒนาธุรกิจรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน : CE Platform

กรีนทูเก็ต : แพลตฟอร์มของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

โครงการ “กรีนทูเก็ต : แพลตฟอร์มของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” เป็นแพลทฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยจัดการขยะอย่างครบวงจร โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขายขยะรีไซเคิล มีการรวบรวมข้อมูลผู้บริโภคที่ต้องการขายขยะรีไซเคิล และแหล่งรับซื้อขยะรีไซเคิล และสอนวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค เพื่อให้ขยะเหล่านั้นสามารถถูกนำเข้าระบบรีไซเคิลและเกิดการหมุนเวียนมาใช้ใหม่ได้มากที่สุด โครงการดังกล่าวทำให้เกิดแพลตฟอร์มของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่สมบูรณ์ ที่มีเชื่อมโยงตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ไปจนถึงผู้รับซื้อขยะ และผู้นำกลับมาใช้ใหม่ และเมื่อมีผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้มากขึ้น จากผู้บริโภคจะกลายเป็น supply chain ที่ส่งต่อขยะกลับไปสู่ผู้ผลิต ซึ่งได้กลายมาเป็น consumer ที่ต้องการนำขยะไปรีไซเคลและนำกลับมาใช้ใหม่ แพลตฟอร์มนี้จะสามารถส่งผลกระทบโดยรวมต่อการจัดขยะภายในประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป

หัวหน้าโครงการ คุณเปรม พฤกษ์ทยานนท์ บริษัท กรีนทูเก็ต จำกัด

2. การพัฒนารูปแบบความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่าฯ : CE Champion

การศึกษารูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการจัดการของเสียในฟาร์มโคนมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการ “การศึกษารูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการจัดการของเสียในฟาร์มโคนมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นฟาร์มโคนมต้นแบบระบบเศรษฐกิจเวียน หรือ The circular dairy farming ที่มีรูปแบบการจัดการฟาร์มโคนมของเกษตรกรให้ได้ตามมาตรฐานฟาร์มและสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเสียเหลือทิ้ง หมุนเวียนเป็นรายได้ให้กับเกษตรกร โดยอาศัยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ของเสีย (waste to money) สร้างของเสียให้เป็นพลังงาน (waste to energy) และสุดท้ายของเสียจะเหลือศูนย์ (zero waste) เช่น การผลิตปุ๋ยหมักจากมูลโค การเลี้ยงปลานิลในบ่อบำบัดน้ำทิ้งจากฟาร์ม การเพาะเห็ดจากเศษฟางเหลืองทิ้ง การผลิตปุ๋ยน้ำนมจากน้ำนมที่ด้อยคุณภาพ การผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำทิ้ง ซึ่งจะลดการใช้พลังงานจากภายนอกมาเป็นพลังงานทดแทนที่ผลิตได้เองในฟาร์ม ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและการกระจายรายได้ให้กับชุมชน อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการจัดการฟาร์มโคนมของเกษตรกรให้ได้มาตรฐานฟาร์มและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากของเสียเหลือทิ้ง ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบที่ต้นทางดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมนมของไทยได้มาตรฐานสากลสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

หัวหน้าโครงการ ดร.ณัฐภร แก้วประทุม นักวิชาการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

โครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน

โครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน เป็นงานวิจัยที่เกิดจากการผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันพลาสติก บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด PPP plastics และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนารูปแบบโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ เริ่มจากการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง การจัดเก็บและแยกประเภท (Sorting & Bailing) และการนำไปใช้ประโยชน์ โดยรีไซเคิลหรือใช้เป็นพลังงานอย่างครบวงจร สำหรับบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เหลือจากการใช้อุปโภคบริโภคแล้ว เพื่อเพิ่มอัตราการนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ และป้องกันขยะพลาสติกหลุดไปสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวยึดหลัก 3P ของ Business Model คือ Profit หรือผลกำไรที่ทำให้ทุกภาคส่วนอยู่ได้ ต่อมาคือ People คนและสังคมอยู่ได้ ซึ่งธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังกลุ่มนี้ได้ สุดท้ายคือ Planet ธุรกิจจะช่วยสร้างประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โลกอยู่ได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ผู้จัดการโครงการ คุณวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก

3. การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้วัตถุดิบรอบสองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มระดับอุตสาหกรรม : CE RDI

โครงการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงสมรรถนะและคุณภาพของพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลทรีไซเคิล (rPET)

พลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลท หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า PET (polyethytene terephthaiate) เป็นที่นิยมใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทคงรูป และเป็นวัสดุสัมผัสอาหารที่มีปริมาณการใช้งานมากที่สุด เนื่องจากสามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวด ถาด กล่อง และฟิล์ม ก่อให้เกิดปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งานตามมา ซึ่งเป็นภาระในการจัดเก็บและการทำลาย อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณสมบัติของพลาสติกชนิด PET ที่มีความใส แข็งแรง และต้านทานการซึมผ่านของความชื้นและแก๊สออกซิเจนได้ดี จึงถือว่าเป็นพลาสติกที่เหมาะสมและมีความคุ้มทุนในการจัดเก็บและนำกลับมารีไซเคิลเป็น rPET หรือ Recycled เพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อีกครั้ง

บพข. ได้ร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนทุนวิจัยสร้างมิติใหม่ในการยกระดับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถพัฒนาคุณภาพของพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET จนได้รับการรับรองให้สามารถใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อลดปริมาณการผลิตพลาสติกใหม่ และต่อยอดไปถึงการพัฒนาให้ภาชนะบรรจุทั้งหมดต้องสามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีรายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสทางการตลาดในการพัฒนาและใช้งานบรรจุภัณฑ์ ช่วยลดความเสี่ยงของผู้บริโภคจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะซึ่งผลิตจาก rPET และนอกจากนี้ยังลดการเกิดขยะและงบประมาณในการฝังกลบ ส่งผลให้ขยะบรรจุภัณฑ์ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการลดปริมาณของไมโครพลาสติกที่ตกค้างในระบบนิเวศแหล่งน้ำ

หัวหน้าโครงการวิจัย รศ. ดร.อำพร เสน่ห์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมน้ำปลาร้า ด้วยเทคโนโลยีสร้างมูลค่ากากปลาร้า

ปลาร้า นอกจากประโยชน์ในการนำมาปรุงอาหารแล้ว กากปลาร้าที่เหลือทิ้งจากการผลิตน้ำปลาร้ายังสามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ อาหารหมู รวมถึงการนำกระดูกปลาร้ามาผลิตเป็นผงกระดูกเสริมแคลเซียมในใส้กรอก ซึ่ง บพข. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยโครงการวิจัย “การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในห่วงโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมน้ำปลาร้า ด้วยเทคโนโลยีสร้างมูลค่ากากปลาร้า” แก่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยโครงการดังกล่าวได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำของเสียเหลือทิ้งจากโรงงานผลิตน้ำปลาร้ากลับมาเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกากปลาร้าเหลือทิ้งในหลายรูปแบบ เช่น พัฒนาการผลิตผงกระดูกปลาขนาดอนุภาคไมครอนจากกากปลาร้าเพื่อเสริมแคลเซียม ผลิตภัณฑ์ซอสน้ำปลาร้าอเนกประสงค์จากกากปลาร้าสูตรลดโซเดียม นวัตกรรมผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชนิดเหลวจากกากปลาร้า การยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากการประยุกต์ใช้ IOT และเศษวัสดุจากกากปลาร้า การใช้กากปลาร้าเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารชนิดใหม่สำหรับสุกร และ การสร้างแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประเมินความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปปลาร้า

โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 คณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมและติดตามผลการดำเนินโครงการวิจัย และได้ยังมีการเยี่ยมชมสวนของเกษตรกรที่ทดลองหมักปุ๋ยชีวภาพจากกากปลาร้าและนำมาใช้ในการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ข้าวโพด มันสำปะหลัง และมะลิ ที่บ้านหนองกุงใหม่พัฒนา ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเกษตรกรได้ให้ข้อมูลว่าหลังจากลดทองใช้น้ำปุ๋ยหมักแล้วได้ผลผลิตดีกว่าเมื่อเทียบกับการไม่ใช้ปุ๋ยน้ำหมัก

เป็นหัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.สมสมร แก้วบริสุทธิ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โครงการนำผลพลอยได้ทางการเกษตรมาใช้ในการผลิตปลานิลภายใต้ระบบไบโอฟลอคหมุนเวียนในความหนาแน่นสูง

โครงการ “การนำผลพลอยได้ทางการเกษตรมาใช้ในการผลิตปลานิลภายใต้ระบบไบโอฟลอคหมุนเวียนในความหนาแน่นสูง” เป็นการศึกษาวิจัยที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนการผลิตปลานิลอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ผลพลอยได้จากการเกษตร ได้แก่ เปลือกเมล็ดกาแฟ และเมล็ดลำไย ในการผลิตอาหารสำหรับเลี้ยงปลานิลร่วมกับระบบไบโอฟลอคหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนค่าอาหารปลานิล และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำในการเลี้ยงปลานิลให้เหลือเพียงสัปดาห์ละ 5% ของน้ำเดิมในบ่อ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะและเคมีบำบัดในการผลิตปลานิล ทั้งยังได้ระบบการเลี้ยงปลานิลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หัวหน้าโครงการวิจัย ผศ. ดร.Hien Van Doan มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

4. การพัฒนาปัจจัยเอื้อ ข้อมูลฐาน และมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน : CE Enabling Factor

แนวทางการวัดการหมุนเวียนของวัสดุในอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยโดยการประยุกต์ใช้ตัวชี้วัดการหมุนเวียนของวัสดุ: ระยะวัสดุก่อสร้าง

อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญมากและสร้างรายได้เป็นอันดับต้น ๆ ให้กับระบบเศรษฐกิจไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหาค่าการหมุนเวียนของวัสดุ (Material Circularity Index: MCI) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ของวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งเสนอแนะแนวทางสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

บพข. ได้ร่วมกับ คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนทุนวิจัยแก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อหาค่ามาตรฐานกลางของผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการหมุนเวียนของวัสดุก่อสร้าง ในการใช้เป็นค่า benchmark เพื่อพัฒนาเพิ่มสมรรถนะการหมุนเวียนวัสดุ และสามารถประมาณการอัตราการหมุนเวียนวัสดุของอุตสาหกรรมก่อสร้าง (โดยจะรวบรวมและอัพเดตเป็น MCI database กลางของประเทศ) ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ลดค่าใช้จ่ายโครงการโดยรวมในการซื้อ/กำจัด/นำกลับมาใช้ใหม่ ลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และยังสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะก่อสร้างและรื้อถอน ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

หัวหน้าโครงการ ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียนอันเป็นการส่งเสริมการหมุนเวียนวัสดุเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย

บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน “CIRCULAR MARK” ซึ่งเป็นระบบรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียนที่พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคและระดับโลก โดยมีเป้าหมายที่จะปิดช่องว่างและเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องหลักใน value chain ตั้งแต่เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้รีไซเคิล เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย โดยเน้น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ เกษตรอาหาร, วัสดุก่อสร้าง, พลาสติก, บรรจุภัณฑ์, และ แฟชั่นไลฟสไตล์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการตลาด สร้างความเข้มแข็งให้กับแบรนด์สินค้า เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยทำการตลาดในวงกว้าง ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยสามารถก้าวข้ามข้อกีดกันทางการค้าและการเก็บภาษีพลาสติกในตลาดสากล และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย  

โดยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 บพข. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (วีกรีน) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ กลุ่ม PPP Plastics ในการจัดงานแถลงข่าว “CIRCULAR MARK, CIRCULAR ECONOMY IN ACTION” เพื่อส่งมอบต้นแบบระบบฉลากผลิตภัณฑ์สิ่งแวดล้อมแก่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นผู้ดำเนินการต่อ และได้มีการลงนามใน MOU ระหว่าง บพข. ร่วมกับ มสท. สมอ. กพร. สอท. ในการพัฒนา CIRCULAR MARK เป็นมาตรฐานและระบบรับรองระดับชาติ พร้อมทั้งได้มีพิธีมอบใบรับรอง CIRCULAR MARK ให้กับบริษัทนำร่อง 30 บริษัท กับอีก 376 ผลิตภัณฑ์ ที่กลายมาเป็น Leading Circular Company ของประเทศ

หัวหน้าโครงการ รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการวีกรีน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *