กิจกรรม

กูรูย้ำ ! ความสำคัญโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ

Dr.-Ing. Clemens Sanetra ผู้เชี่ยวชาญระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ (Quality Infrastructure – QI) ระดับโลก ซึ่งเป็นผู้วางรากฐาน NQI ให้แก่ประเทศไทย ได้ให้เกียรติมาบรรยายในหัวข้อ “Role & Contribution of QI in Trade, Industry, and Innovation” ภายใต้กิจกรรม PMUC Special Talk เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม Pullman King Power (รางน้ำ) ซึ่งจัดโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)

Dr.-Ing. Clemens Sanetra ซึ่งเป็นผู้ร่วมวางรากฐานระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure หรือ NQI) ของไทย ไว้เมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา กล่าวถึงระบบ NQI คือระบบที่ประกอบขึ้นจากองค์กร ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยมี นโยบาย กฎหมาย และกรอบการกำกับดูแล และแนวปฏิบัติร่วมกัน โดยองค์กรในระบบ NQI ดำเนินงานร่วมกันภายใต้กระบวนการ 5 ด้าน ได้แก่

Metrology หรือ มาตรวิทยา หมายถึง วิทยาศาสตร์ของการวัด (science of measurement) จึงมีวัตถุประสงค์ในการทำให้การวัด (measurement) มีความแม่นยำและเที่ยงตรง และผลการวัด (measurement result) ไม่ว่าจะกระทำที่ใด เมื่อใด หรือโดยผู้ใดสามารถเปรียบเทียบกันได้ และผลการวัดสามารถนำไปใช้งานได้ตามความมุ่งหมายที่ตั้งไว้

Standardization หรือ การกำหนดมาตรฐาน หมายถึง การจัดทำเอกสารข้อกำหนด หลักเกณฑ์ หรือแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบ หรือแนวปฏิบัติในการดำเนินงานให้เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในการผลิตสินค้าของโรงงานผู้ผลิต หรือการนำไปใช้อ้างอิงเพื่อการจัดซื้อของผู้ซื้อ โดยข้อกำหนด หลักเกณฑ์ หรือแนวทางข้างต้นอาจจะเป็นคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ หรือรายละเอียดกระบวนการก็ได้

Accreditation หรือ กระบวนการประเมินหน่วยตรวจสอบและรับรอง (Conformity Assessment Body: CAB) ตามมาตรฐาน

Conformity assessment หรือ การตรวจสอบและรับรอง หมายถึง การดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการเพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์ บริการ หรือระบบมีสมบัติตามที่มาตรฐานระบุหรือไม่ รูปแบบหลักของการตรวจสอบและรับรองคือ การทดสอบ (testing) การรับรอง (certification) และการตรวจ (inspection)

Market surveillance หรือ การกำกับดูแลตลาด คือกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าสินค้าและบริการที่เข้าสู่ตลาดนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ความเป็นธรรมทางการค้า การแข่งขันที่เป็นธรรมและประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ

Dr. Sanetra กล่าวว่า ปัจจุบัน บทบาท NQI นั้นมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เนื่องมาจาก ตลาดมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งมาจากความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภค อีกทั้ง การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองผู้บริโภค สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ รวมถึงความโปร่งใสของตลาดและการค้าที่เป็นธรรม จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และเป็นความท้าทายของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพและมาตรฐาน (QI) ที่จะต้องให้บริการด้วยความเป็นอิสระและเป็นกลางตลอดเวลา โดยมุ่งเน้น 3 ส่วน สำคัญ ได้แก่

ข้อกำหนดจากภาครัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และ อื่นๆ Protection purposes (state regulation)

ความต้องการของตลาด Market demand (buyer’s requirements)

การพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการ Innovations (entrepreneur’s creativity)


ผลิตภัณฑ์ในตลาด ต้องผ่านมาตรฐานเบื้องต้นตามกฎระเบียบ เช่น ฉลาก หรือ ความปลอดภัย เป็นต้น จากนั้น จะเป็นเรื่องของการแข่งขันในตลาด และ นวัตกรรมที่ผู้ประกอบการพัฒนา ให้สามารถชนะคู่แข่งในตลาด นอกเหนือจากด้านราคา เช่น คุณภาพ ความสร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม เป็นต้น

Dr. Sanetra ยังได้กล่าวถึงบทบาทของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบพื้นฐานคุณภาพแห่งชาติ ในฐานะดังต่อไปนี้

  1. หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator ) ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดข้อกำหนดเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องและ รับรองให้สินค้า และบริการทั้งหมด จนถึงการกำกับดูแลตลาด
    ผู้ซื้อ (Buyer) รัฐในฐานะ Buyer ที่ใหญ่ที่สุดในเศรษฐกิจ ภายใต้ระเบียบและข้อกำหนดของ พรบ. จัดซื้อจัดจ้าง สามารถปรับปรุง และพัฒนาข้อกำหนดด้าน NQI ให้สูงขึ้นกว่ามาตรฐานเดิม ผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการกระตุ้นมาตรการ NQI ให้สูงขึ้น
  2. ผู้จัดทำนโยบาย (Policy Maker) บทบาทของรัฐบาลในการส่งเสริม “วัฒนธรรมคุณภาพ” การศึกษาผู้บริโภค การเสริมสร้างสิทธิผู้บริโภคและความโปร่งใสในตลาด เมื่อผู้บริโภคมีต้องการมากขึ้น ผู้ประกอบการจะต้องตอบสนอง และมีความตระหนักในการพัฒนาสินค้าที่ผ่านระบบพื้นฐานคุณภาพแห่งชาติ ให้มากขึ้น
  3. ผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรม (Innovation Driver) บทบาทของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เช่น โปรแกรมส่งเสริมนวัตกรรมที่ใช้ระบบพื้นฐานคุณภาพ การวิจัยและพัฒนาที่ใช้ระบบพื้นฐานคุณภาพสำหรับเทคโนโลยีใหม่ การบูรณาการระบบพื้นฐานคุณภาพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม เมืองอัจฉริยะ พลังงานทดแทนและการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เป็นต้น
  4. ผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) บทบาทของรัฐบาล ในการเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในภาคเอกชน เอกชนรัฐ สาขาวิชาการและผู้บริโภค ขับเคลื่อนให้เกิดการควบคุมอย่างเป็นกลาง มีความยืดหยุ่น ร่วมสร้างประสิทธิภาพในการผลิต ลดการสูญเสียใจการผลิต กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในระบบเศรษฐกิจ

รศ. ดร. สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม PMUC Special Talk คือเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ หรือ quality infrastructure เพราะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เราอาจจะเห็นว่าประเทศไทยมีโครงสร้างนี้อยู่แล้ว และใช้มานาน โดยอาจจะใช้ในชื่ออื่น เช่น ระบบการมาตรฐาน เหตุผลหนึ่งที่ต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกันมากยิ่งขึ้น เพราะประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งตามยุทธศาสตร์ชาติและตามคาดหวังของ บพข. การปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมของไทย ให้ไปสู่ระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมและการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่เราเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและเจ้าของแบรนด์สินค้า โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพที่ส่งเสริมและรองรับระบบเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมแบบที่เรากำลังสร้างขึ้นใหม่นี้ เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพคนละแบบกับโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่เราผลิตตามแบบและกระบวนการที่บริษัทเจ้าของแบรนด์กำหนด แม้ชื่อและองค์ประกอบของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพจะยังเป็นชื่อเดิม แต่วิธีการทำงาน ลำดับการทำงาน หน้าที่และจุดมุ่งหมายของแต่ละองค์ประกอบไม่เหมือนเดิม การจัดเรียงองค์ประกอบและการสานแต่ละองค์ประกอบเข้าด้วยกันก็ไม่เหมือนเดิมและมีความสำคัญมาก

เรากำลังจะต้องก้าวจาก NQI ที่ข้อกำหนดทางกฎหมายเป็นตัวนำ หรือเป็นเงื่อนไขหลักในการเข้าสู่ตลาดไปสู่ NQI ที่ผู้ประกอบการเอกชนและนวัตกรรมเป็นตัวนำ สินค้าต่างๆ ไม่มีปัญหาในการเข้าสู่ตลาดเพราะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด แต่จำเป็นต้องแข่งขันในตลาดด้วยคุณภาพ ผู้ซื้อจะเป็นผู้เลือก เราเห็นปรากฏการณ์นี้แล้วในตลาดของเรา ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่เขาเชื่อว่าดีกว่าตามกำลังการซื้อที่เขามี เราจึงเห็นสินค้าเกาหลี ญี่ปุ่น และเยอรมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราเห็นขนมและอาหารจากเกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี และชาติที่มี NQI อีกแบบที่ต่างจากเราเข้ามากินพื้นที่ในตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย โดยที่สินค้าไทยจำนวนไม่มากนักที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดกลุ่มนี้

ปิดท้ายด้วยเสวนาในหัวข้อ “Utilising Thailand NQI Strengths” จากผู้เชี่ยวชาญด้าน NQI ของไทย ที่มาแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น เพื่อร่วมกันผลักดันและเปลี่ยนแปลงระบบ NQI ไปสู่ NQI อย่างใหม่ที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของไทย ต่อไป

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *