กิจกรรม

บพข. นำทีมนักวิจัย และผู้ประกอบ การระดมสมอง สร้าง Roadmap การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม Digital Technology for the Future

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. และ ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. จัดงาน “สัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำ Roadmap การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม Digital Technology for the Future ในการเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศ” โดยเชิญนักวิจัย หน่วยงานมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนในการเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนระดมสมอง และออกแบบ Roadmap รวมทั้งการกำหนดหัวข้อประเด็นการวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับ Roadmap เพื่อจัดทำแผนการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับ Digital Technology for the Future โดยงานได้จัดขึ้นที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ (รางน้ำ) กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยความสนใจจากนักวิจัย หน่วยงานมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนหลายแห่งเข้าร่วมงาน

รศ.ดร.สิรี ได้กล่าวถึงภารกิจของ บพข. ว่า “บพข. รับนโยบายมาจาก สอวช. และ สกสว. ในการสนับสนุนทุนวิจัยโดยมุ้งเน้นไปที่การพัฒนาเศษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ววน.) ปี 2566-2570 ยุทธศาสตร์ที่ 1 ว่าด้วย การพัฒนาเศรษฐกิจไทย ด้วยเศษฐกิจสร้างคุณค่า และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม ซึ่งบพข. จะเน้นสนับสนุนทุนที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยจากภาครัฐ และผู้ประกอบการในภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล และให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง”

ด้าน ผศ.ดร.วรรณรัช ได้กล่าวถึง “แนวแผนงาน ววน. และทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ในโลกยุคใหม่” ว่า รัฐบาลมีแผนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมถึงปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิคอัจฉริยะ รวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การบริการ และการพึ่งพาตนเอง โดยมุ่งเป้าให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีดิทัล ที่มีศักยภาพในระดับสากล และตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ การเกษตรและอาหาร ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการภาครัฐ และยกระดับภาคการศึกษาไทยโดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

สำหรับโอกาสในการแข่งขันภายในประเทศของตลาดดิจิทัล ได้มีการคาดการณ์การเติบโตของอุตสหกรรมดิจิทัล ปี 2565-2567 โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) อุตสาหกรรม Software 2) อุตสาหกรรม Hardware และ Smart Devices 3) อุตสาหกรรม Digital Services 4) อุตสาหกรรม Big Data ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีการเติบโตอยู่ที่ 11.9%, 7.2%, 23.5% และ 13.8% ตามลำดับ

ในการนี้ รศ.ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต หัวหน้าสำนักประสานแผนงานอาหารมูลค่าสูง ได้ร่วมบรรยายถึง “ทิศทางการพัฒนางานวิจัยทางด้าน Future food” โดยได้ชี้ให้เห็นว่าเทรนด์ที่มาแรงในอุตสาหกรรมอาหารมูลค่าสูงในขณะนี้ ประกอบด้วย 1) กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น นม/เครื่องดื่มผสมวิตามิน 2) อาหารทางเลือก (Alternative food) เช่น Plant-based, การใช้สารที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นแทนการใช้สารสังเคราะห์ 3) อาหารที่ผลิตด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การติดฉลากที่แสดงคาร์บอนฟุตพริ้นท์บรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายเองได้ รวมทั้งการใช้พลังงานในการผลิตอาหารลดลง และการนำของเสียในอุตสาหกรรมมาผลิตบรรจุผลิตสำหรับอาหารซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการทำกันแล้ว 4) เนื้อสัตว์จากแนวเพาะเลี้ยง (Lab-grown Meat) นอกจากนี้ รศ.ดร.ณัฐดนัย ยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่าในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในอุตสากรรมอาหาร เช่น การใช้ AI เป็นเครื่องมือในการช่วยในการประเมินและทำนายคุณภาพของอาหาร การตรวจจับสารปนเปื้อน การทำนายสูตรอาหาร ส่วนประกอบให้กลิ่นและรสชาติ การลดคาร์บอนและพลังงานในการผลิตอาหาร และการออกแบบอาหารสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นต้น

นอกจากนี้ บพข. ยังได้เชิญบุคคลภายนอกจากภาคเอกชน อาทิ คุณช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา และ คุณทรงกลด บางยี่ขัน Co-Founder, Cloud and Ground co., ltd. ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม CEO และ Co-founder บริษัท ZTRUS มาร่วมพูดคุยกันในประเด็น “Vision of future creative industry” และ “แนะนำเครื่องมือ และแนวทางการจัดทำ Technology/IP Landscape” และได้มีการยกประเด็นด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาพูดคุย พร้อมชี้ช่องทางการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เช่น การพัฒนา AI ให้เรียนรู้รสนิยม (Taste) ของนักท่องเที่ยวแต่ละคน และช่วยทำนาย/แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ในประเทศไทยที่มีลักษณะใกล้เคียงและเข้ากับไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวแต่ละคนมากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนอยากออกไปเที่ยวและใช้ชีวิตนอกบ้านในยุคหลังโควิด-19 และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมในช่วงบ่ายเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกันระดมความคิด โดยให้ภาคเอกชนได้แชร์ประสบการณ์ ปัญหา และ pain point ให้กับนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลฟัง เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดโจทย์วิจัย ให้นักวิจัยสามารถพัฒนางานวิจัยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนได้อย่างตรงจุด โดยประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับจากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะถูกนำไปสรุปและจัดทำเป็นแผนการสนับสนุนทุนการวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับ Roadmap ที่ได้ต่อไป

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *