ผลงานเด่น

“Growth Factor” ผลผลิตจากงานวิจัยที่มากกว่าความสวยความงาม

หลายคนยังสงสัย Growth Factor (GH) คืออะไร? Growth Factor นั้นเป็นโปรตีนขนาดเล็กที่ร่างกายมนุษย์นั้นสามารถผลิตขึ้นได้เองในสภาวะหรือช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อกระตุ้นการเจริญและควบคุมการทำงานของเซลล์ที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่ง Growth Factor แต่ละชนิดจะมีความจำเพาะต่อเซลล์ร่างกายแต่ละส่วนต่างกัน ดังนั้นคุณสมบัติของ Growth Factor บางชนิดจึงถูกนำมาประยุกต์ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เวชสำอาง และงานวิจัยในสาขาต่าง ๆ

ดร.วรพล รัตนชื่น ผู้จัดการแผนกวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และนักวิจัย “โครงการวิจัยพัฒนาและผลิตชีวผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผิว โดยใช้ Growth Factor เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ให้ข้อมูลว่า “นอกจาก Growth Factor ที่ร่างกายมนุษย์ผลิตขึ้นได้เองแล้ว ปัจจุบันจะมีการผลิต Growth Factor ด้วยกระบวนการต่าง ๆ เพื่อนำไปเป็นองค์ประกอบที่จะใช้ประโยชน์หลัก ๆ 4 ด้าน คือ 1.นำมาใช้ในการวิจัยในห้องปฏิบัติการ โดยเฉพาะงานด้าน Stem Cell และการเพาะเลี้ยงเซลล์มนุษย์ 2.ใช้เป็นตัว Active Ingredient (AI) ในอุตสาหกรรม Medical Device หรือ ชีววัตถุทางการแพทย์ 3.เป็นองค์ประกอบในกลุ่มยารักษา และ 4.เป็นองค์ประกอบในพวกเวชสำอาง ซึ่งประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงการใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ได้มากที่สุด”

ดร.วรพล รัตนชื่น

ปัจจุบัน การนำ Growth Factor มาใช้เป็นองค์ประกอบหลักของเครื่องสำอางได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งแบ่งตามคุณสมบัติใหญ่ ได้แก่ ชะลอวัย (Anti-aging), ลดริ้วรอย (Anti-wrinkle) และดูแลสุขภาพผม (Hair-care) โดยจะถูกระบุบนเครื่องสำอางนั้นด้วย International Nomenclature Cosmetic Ingredient (INCI Name) ซึ่งส่วนใหญ่มีชื่อเป็น Oligopeptide หรือ Polypeptide ตามด้วยตัวเลขซึ่งเรียกเครื่องสำอางกลุ่มนี้ว่า ‘เวชสำอาง (Cosmeceutical Product)’

การทำงานทางชีวภาพของ Epidermal Growth Factor (EGF)
ภาพจาก http://www.synergimedspa.com/services/facials-and-clinical-skin-care/derma-rolling/

โดยโครงการฯ วิจัย พัฒนา และผลิตชีวผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผิว โดยมี Growth Factor เป็นประกอบหลักนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งงานวิจัยได้มีการพัฒนา Growth Factor เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบของเวชสำอางสำหรับการดูแลสุขภาพผิวและเส้นผมของบุคคลทั่วไป โดยทีมวิจัยวางเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนากระบวนการผลิต Epidermal Growth Factor (EGF) ในระดับอุตสาหกรรม ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมยาที่ดี (Current Good Manufacturing Practice: cGMP) เพื่อมุ่งไว้ใช้เป็นตัวยาสำคัญที่มีฤทธิ์ทางยา (Active Pharmaceutical Ingredient: API) เพื่อเป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนาสูตรยาตำรับใหม่

ดร.วรพล รัตนชื่น กล่าวว่า “จากงานวิจัยโครงการนี้ เราสามารถพัฒนาและผลิต Growth Factor ระดับ Lab Scale จนถึงระดับอุตสาหกรรมได้ 3 ชนิด คือ Epidermal Growth Factor (EGF), Basic Fibroblast Growth Factor (bFGF) และ AFGF (Acidic Fibroblast Growth Factor (aFGF) ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้จัดเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและเป็นตัวชูโรงในกลุ่มยาและเวชสำอาง ซึ่งเราจะใช้ประบวนการผลิตและพัฒนาขึ้นจากการเลี้ยงในแบคทีเรีย ก่อนแยกให้บริสุทธิ์ (มากกว่า 98%) ทำให้มั่นใจได้ว่าเราจะได้ Growth Factor ที่ต้องการเพียงชนิดเดียวโดยไม่มีเศษเซลล์หรือโปรตีนชนิดอื่นปนเปื้อน โดยปัจจุบันเราได้นำ EGF (ซึ่งร่างกายมนุษย์จะไม่มีการผลิตหลังจากอายุ 30 ปีขึ้นไป ทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น) มาใช้เป็นองค์ประกอบหลักในกลุ่มเวชสำอางเพื่อสุขภาพผิว เพื่อกระตุ้นการทำงานของเซลล์ผิวหนังให้หลั่งสารองค์ประกอบของ Extracellular Matrix และสารจำเป็นอื่น ๆ ออกมา เพื่อเติมช่องว่างในชั้นผิวทำให้ริ้วรอยลดลง รวมถึงการนำ EGF และ FGF ร่วมกับ VEGF (Vascular Endothelial Growth) มาเป็นองค์ประกอบหลักในเวชสำอางในกลุ่มดูแลสุขภาพผม (Hair-care) ในนามผลิตภัณฑ์ ‘Ardermis’

ผลิตภัณฑ์ ‘Ardermis’

“อีกประเด็นหนึ่งจากงานวิจัยชิ้นนี้ที่สำคัญ “สถานที่และกระบวนการผลิต” ที่เราใช้ Lab ของมหาวิทยาลัยมหิดล และ Lab ของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เอง ที่มีความพร้อมทั้ง Lab Scale Pilot Scale และ Manufacturing Scale ซึ่งเราได้รับมาตรฐานสากลทั้งในส่วนยาและเครื่องสำอาง, มาตรฐาน GMP ยา, ISO 9200, ISO 13485 สำหรับเครื่องมือแพทย์ และ ISO 17025 สำหรับวิธีการวิเคราะห์ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย Growth Factor ที่ใช้เป็นองค์ประกอบหลักได้”

 

นอกจากการนำ Growth Factor ที่ได้จากงานวิจัยไปเป็นองค์ประกอบหลักในเวชสำอางแล้ว ภาครัฐและเอกชนยังให้ความสนใจติดต่อขอซื้อเพื่อไปใช้ประโชน์ในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น นักวิจัยและห้องปฏิบัติการในประเทศที่นำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการแบ่งเซลล์รวมถึงการเรียนรู้ Stem Cell การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อการวิจัยทดลอง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ 100%, บริษัทเอกชนที่ทำหน้าที่เก็บ Stem Cell, สถาบันเสริมความงาม และส่งขายต่างประเทศ เป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  และเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าคิดเป็นมูลค่าปีละหลายล้านบาท

โดยปัจจุบันงานงานวิจัยนี้อยู่ในระยะการยกระดับการผลิตให้เป็นการผลิตเชิงอุตสาหกรรมตามมาตรฐานการผลิตยาที่ดี เพื่อยืนยันการรับรองการผลิตยาจากคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลัก Active Pharmaceutical Ingredient (API) ในการพัฒนาสูตรยา ซึ่งหลังจากได้รับการรับรองกระบวนการผลิต Growth Factor ในอุตสาหกรรมตามมาตรฐานโรงงานผลิตยาที่ดี หรือ GMP แล้ว จะมีการพัฒนา Prototype ของสูตรตำรับสำหรับยาแผลชนิดต่าง ๆ เพื่อนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการถึงประสิทธิภาพคุณภาพความปลอดภัยและความคงตัวของยา ไปจนถึงการทดสอบในระดับ Non-Clinical และ Clinical เป็นเป้าหมายต่อไป

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *