ผลงานเด่น

เกษตรกรไทยพร้อมหรือไม่กับการใช้เทคโนโลยี

ทำไมเกษตรกรไทยยังพึ่งระบบแรงงาน

อันดับแรกเป็นเรื่องของเงินทุนเพื่อจะเปลี่ยนจากแรงงานมาใช้เครื่องจักร ซึ่งจะเหมาะกับเกษตรกรที่มีผลผลิตมากประมาณหนึ่ง ถามว่าเกษตรกรต้องการใช้เครื่องจักรไหม ในฐานะที่คลุกคลีกับเกษตรกรมาแต่เด็ก อาจารย์มั่นใจว่าเขาอยากใช้เครื่องจักรมาตั้งนานแล้วเพราะค่าใช้จ่ายส่วนแรงงานสูงมากปีหนึ่งเป็นล้านบาท ซึ่งสามารถผ่อนจ่ายหรือซื้อเครื่องจักรเองได้แล้ว แต่เครื่องมือหรือเครื่องจักรนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้สัมพันธ์กับลักษณะของแปลงทุกแปลง หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือมันไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ 100% อีกประเด็นคือ เรื่องความเสี่ยงของการลงทุนว่าถ้าเกิดเราลงทุนไปแล้วใช้ไม่ได้ก็จะเป็นการสร้างหนี้อย่างเดียว

เพราะฉะนั้นเกษตรกรเลยต้องคิดหนักหลายด้าน เกษตรกรหลายพื้นที่อยากเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง แต่ว่าเขาจะสามารถเลือกเครื่องมือที่มันเหมาะกับเขาได้ยังไง
ใครจะมาช่วยเขาตัดสินใจว่าไม่ต้องซื้อหรอกจ้างเขาดีกว่า หรือแปลงของคุณผลผลิตเป็นแบบนี้เป็นเหตุผลมาจากลักษณะพื้นที่ไม่ดีเครื่องจักรก็เลยทำงานให้เหมาะสม ไม่เคยมีใครไปบอกเขาขนาดนั้น อันนี้มันเป็นประเด็นหลักมากกว่าไม่ใช่ว่าเขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

แนวคิดในการนำความรู้ทางวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ด้านการเกษตร

จริง ๆ แล้วอาจารย์โชคดีที่มีโอกาสได้คลุกคลีกับเกษตรกรมามาตั้งแต่สมัยเรียน เพราะว่าธุรกิจครอบครัวเองก็เป็นบริษัทเครื่องจักรกลเกษตร เราค่อนข้างเข้าใจว่าความต้องการของเกษตรกรคืออะไร

มีโอกาสเห็นความยากลำบากของเขาในเชิงลึกมาก่อน อยากให้ทุกคนคิดว่ามันยากมากที่จะทำออกมาเป็น Mass Production เพราะฉะนั้นเรื่องของเกษตรกรรมเราไม่ควรที่จะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ในหลักคิดของวิศวกรรมเราต้องพยายามที่จะหาวิธีแก้ไข เราจะต้องศึกษาปัจจัย เอาหลักคิดทางวิศวกรรมมาช่วยในการตีกรอบความเป็นไปได้ในการที่จะใช้เครื่องมือของเกษตรกร หนึ่งช่วยดีไซน์ สองช่วยเลือกว่าอะไรดีกับคุณ สามคือถ้าจะใช้แล้วต้องเพิ่มความสามารถที่ดีขึ้น คือหลักการของวิศวกรก็คือว่าเราต้องปรับปรุงประสิทธิภาพตลอดเวลา เราต้องหาสาเหตุทำ Cost Analysis ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร มันควรที่จะลงทุนแล้วมาดูว่าเกษตรกรจริงๆ แล้วต้องการอะไรต้องการความเชื่อมั่นในเรื่องอะไรบ้างแล้วจึงเข้าไปช่วย

จนกลายเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรที่มีความแม่นยำ

แม่นยำคือ ทำทุกครั้งได้ที่เดิมทุกครั้ง แต่กรอบของเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เราควรที่จะสามารถตอบได้ในเรื่องของ Crop Zoning คือว่าเราสามารถตอบได้ว่าแปลงของฉันอยู่ตรงนี้สมควรที่จะปลูกอะไร ปลูกอะไรขึ้นกับอะไร ฝนมันตกในรูปแบบไหน ดินของเรามีลักษณะการเก็บน้ำ น้ำใต้ดินบนดินเป็นอย่างไร เป็นต้น สองคือ Crop Dashboard ที่ระบุการเติบโตของพืชว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ สุขภาพของพืชเป็นอย่างไร เป็นโรค หรือต้องการปุ๋ยประเภทไหน หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์จะต้องแก้ไขอย่างไร

ทำให้เกษตรกรมีการวางแผนบริหารจัดการต้นทุนได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะถูกประมวลเป็นการคาดการณ์ผลผลิตในไร่ให้มีประสิทธิภาพ และสาม Machine Dashboard คือ การประเมินข้อมูลที่เกิดจากการใช้เครื่องมือและแปรผลในเชิงประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้นการที่เราเห็นไทม์ไลน์ชัดเจน ว่าเราควรจะทำอะไรเมื่อไหร่ วางแผนเครื่องมือได้และวางแผนการใช้เงินได้ อันนี้แหละอาจารย์คิดว่าเป็นความแม่นยำในการเกษตรในความคิดของอาจารย์

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้

ตามความเป็นจริงตอนนี้เราต้องยอมรับภาคเอกชนมีส่วนมากกว่าภาครัฐ ตัวเป็นเอกชนที่เป็นผู้ชำนาญเครื่องมือ หรือว่าเป็นผู้รับซื้อในบางกลุ่ม เช่น ในกลุ่มในกลุ่มของโรงงานน้ำตาลหรือว่าในกลุ่มที่เขาผลิตไบโอเอทานอลจากตัวมันสำปะหลังเขาลงทุนโรงงานไปแล้วหลายพันล้าน ปัญหาคือถ้าไม่มีอ้อยไม่มีมันมาส่งเขาเดือดร้อนแน่นอน เขาต้องการการการันตีว่าเขาจะมีวัตถุดิบ เพราะฉะนั้นคนที่นำเอาพวกเครื่องมือเทคโนโลยีต่าง ๆ

รวมถึงเรียกว่าระบบที่ใช้ก่อนเก็บเงินทีหลังอันนี้เป็นระบบที่ค่อนข้างเข้มแข็งในประเทศไทยเรา คือให้ใช้ก่อนแล้วเดี๋ยวเอาอ้อยมาขายเอามันมาขายค่อยหักเงินทีหลัง อันนี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้การใช้เทคโนโลยีของเกษตรกรไทยถือว่าเร็วเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแต่ว่าก็ไม่เร็ว เท่าต่างประเทศประเทศที่เป็นประเทศที่เจริญแล้วในแถบอียู ก็ด้วยสิ่งอาจารย์บอกมาคือ หนึ่ง เงินลงทุน สอง ความเสี่ยงที่จะแบกรับได้ และ สาม คือกลัวว่ามันไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าพื้นที่เขาใช้แนวมันควรจะเรียกใช้อะไรแล้วมันจะประสบผลสำเร็จมากที่สุด

เพราะฉะนั้นจริง ๆ โครงการรัฐที่ส่งเสริมในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นตัวแพลตฟอร์ม บพข. ที่ทำอยู่ตอนนี้ แล้วก็พวกการส่งเสริม Startup ต่างๆ การส่งเสริมในลักษณะของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีการรวมกลุ่มเทรนนิ่งก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ช่วยกระตุ้น อย่างน้อยมันทำให้ภาคเอกชนกล้าที่จะเข้ามาเพราะรู้สึกเจ็บตัวน้อยกว่าถ้าเกิดมีเงินของภาครัฐเข้ามาช่วยแบบนี้

เพราะฉะนั้นเงินงบประมาณที่ส่งเสริมลงมาก็ดีหรือว่าในส่วนของโครงการที่สนับสนุนให้อาจารย์และเอกชนทำงานร่วมกันแล้วก็ได้รับ Feedback จากเกษตรกร คือโครงการลักษณะนี้มันช่วยกระตุ้นเกษตรกรกล้าที่จะทดสอบเทคโนโลยีมากขึ้น กล้าจะลองเสี่ยงมากขึ้น ถ้าเกิดข้อกังวลเขาน้อยลง อย่างน้อยไม่เป็นหนี้หัวโต แล้วเกษตรกรที่เป็นตัวอย่างได้ใช้ พื้นที่รอบๆ เขาก็ต้องมาดูว่าทำแบบนี้แล้วมันได้ผล ก็ลองทำตามบ้างมาดู การลงทุนก็ลงทุนแบบไม่ต้องใช้เงินเยอะ มันค่อยๆ เป็นไปได้มีคนมาช่วยแนะนำ มีหน่วยงานอื่น หรือว่าส่วนต่าง ๆ ที่ผลักดัน Startup มี Application ที่ให้ความรู้มันก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้เกษตรกรกล้าที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น

การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนจะช่วยส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างไร

มุมแรกเรื่อง ความสามารถในการส่งออกสินค้าทางการเกษตร การที่เราเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตร เราจะถูกควบคุมด้วยองค์กรการค้าโลก และเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้า ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือเราต้องลดต้นทุนให้กับเกษตรกรให้ได้ การที่ลดต้นทุนได้ การผลิตก็จะเรียกว่ามีความยั่งยืน เราสามารถวางแผนในเชิงนโยบายได้ เราสามารถวางแผนในการต่อรองได้ เราสามารถเลือกขายในช่วงเวลาที่แพง ซื้อในเวลาที่ถูกได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นเรื่องเข้าใจง่ายๆ แบบนี้แหละซื้อมาขายไป Income ของประเทศ คิดว่านี่เป็นจุดสำคัญที่เราจะรู้ได้ยังไงว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับปริมาณที่เราจะส่งออก

หรือสิ่งที่เราต้องซื้อเพื่อที่จะเป็นต้นทุนในการผลิตของเรา ฉะนั้นพวก Information ถ้ามันชัดเจนหรือเราสามารถที่จะทำให้มันยั่งยืนได้ ในฐานะผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตร เรามีศักยภาพในการแข่งขันแน่นอน เพราะเราได้เปรียบ เรารู้ข้อมูล เราวางแผนได้อันนี้ก็คือในแง่ของการที่เราเป็นผู้ส่งออก

ในอีกแง่นึงในฐานะที่เราเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี บริษัทที่ร่วมทุนในโครงการเป็นผู้พัฒนาตนเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีในไทย การส่งเสริมให้บริษัท รวมถึงผู้ประกอบการเหล่านี้ สามารถที่จะขยาย อัพสเกลหรือเพิ่มความยั่งยืนให้กับเขามันก็จะทำให้รากฐานของต้นทุนในการผลิตของเราดีขึ้นไปอีก ดีกว่าพึ่งพาการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศอย่างเดียว ยกตัวอย่างในโครงการนี้ที่เรามีโดรนที่เป็นงานเป็นบริษัทของคนไทย มีการใช้งานที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ในประเทศของเรา รวมทั้งเราสามารถที่จะส่งออกไปต่างประเทศได้ด้วย

ฉะนั้นการทำงานร่วมกันตรงนี้มันนอกจากจะไปเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในฐานะผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรแล้ว มันก็จะช่วยเสริมความเข้มแข็งของเทคโนโลยีที่เป็นองค์ความรู้ของไทยเราเองเทคโนโลยีที่จะมาช่วยลดต้นทุน รวมถึงเทคโนโลยีที่เมมูลค่าในการส่งออกไปใช้ไปใช้ในต่างประเทศ เพราะอย่างไรประเทศผู้ผลิตทางการเกษตรก็อยู่รอบๆ บ้านเราทั้งนั้นเลย เราไม่ได้มองแต่ว่าส่งออกการเกษตรอย่างเดียว เราสามารถส่งออกเทคโนโลยีทางการเกษตรได้ด้วย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่อาจารย์คิดว่าต้องเป็นการร่วมมือภาครัฐเอกชนแบบนี้มันถึงจะผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ได้

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *