อินโฟกราฟิก

การพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ปัญหางานวิจัยไทยที่ผ่านมา คือ เน้นให้ทุนวิจัยที่อยู่ในห้องปฏิบัติการแล้วจบอยู่ตรงนั้น ไม่มีการนำไปใช้งานต่อในเชิงพาณิชย์หรือสร้างผลกระทบต่อสังคมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ

จากปัญหาดังกล่าว จึงเกิดการสนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบใหม่ขึ้นมา เพื่อยกระดับงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่ภาคอุตสาหกรรม ต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการมูลค่าสูง

การสนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบเดิมของประเทศไทย เป็นการให้ทุนกับงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ ซึ่งหน่วยงานของรัฐเป็นผู้สนับสนุน (Curve สีส้ม) และส่งงานต่อให้ภาคเอกชนลงทุนเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ ในหลายกรณีพบว่างานวิจัยยังควรได้รับการพัฒนาอีกหลายขั้นตอนก่อนที่จะดำเนินการผลิตจริงได้ ช่องว่างสำคัญที่ทำให้งานวิจัยไทยไปไม่ถึงภาคอุตสาหกรรมตรงนี้ คือ “การพัฒนาเทคโนโลยี” ที่จะส่งผ่านไปยังภาคเอกชนลงทุนเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ (Curve สีฟ้า)

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จึงเป็นหน่วยงานวิจัยรูปแบบใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่ ‘บริหารจัดการงานวิจัย’ ให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเน้นเสริมสมรรถนะ SMEs และภาคเอกชน เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในเชิงเศรษฐกิจสู่สากล

ดังนั้นทุนที่ บพข. สนับสนุนจึงไม่ใช่ Basic Research (การวิจัยพื้นฐาน) ที่มีระดับ TRL (Technology Readiness Level) 1-3 แต่ บพข. จะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนทุนเพื่อการพัฒนางานวิจัยที่สำเร็จแล้วในระดับห้องปฏิบัติการแล้วมาขยายขนาดการทดลองการผลิต การต่อยอดร่วมกับเทคโนโลยีอื่น การทดสอบมาตรฐานเพื่อการขึ้นทะเบียน การพัฒนาระบบ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีระดับ TRL 4–8 แต่อาจมีข้อยกเว้นหากงานวิจัยนั้นเป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่มีความซับซ้อน (Deep Technology)

โดยการสนับสนุนทุนเพื่อการพัฒนางานวิจัยของ บพข. จะอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการผลิตผลิตภัณฑ์และการบริการมูลค่าสูง อันจะมีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจกับประเทศไทยที่ก้าวสู่เศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจฐานนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อแข่งขันได้ในระดับสากล  

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *