

เราคงคุ้นเคยกันดีว่าผลผลิตทางการเกษตรภาคใต้ของไทยนอกจาก ผลิตภัณฑ์หลักที่ได้จากยางพารา ปาล์ม และการประมงทางทะเล ยังมีผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว กล้วย มันสำปะหลังที่สามารถปลูกได้ในภาคใต้ บพข. ซึ่งเป็นผู้ผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านอาหารมูลค่าสูง ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่เชี่ยวชาญในการจัดสรรนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการในพื้นที่ เป็นผู้ดำเนินโครงการการขยายสเกลและยกระดับงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวคนธ์ วัฒนจันทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งอาคารปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบที่ได้การรับรองมาตรฐาน GMP ที่พร้อมขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

เพื่อยกระดับและขยายการผลิตโดยการนำวัตถุดิบท้องถิ่นภาคใต้ ให้สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ และเป็นศูนย์กลางความรู้และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านอุตสาหกรรมอาหารในเขตพื้นที่ภาคใต้ ที่สามารถให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี การบริการสิ่งอำนวยความสะดวกในงานวิจัยให้แก่ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะทำวิจัยในการขยายการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ให้เกิดเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยด้วยชุดเครื่องจักรอุปกรณ์เครื่องมือโดยการสนับสนุนจาก บพข. ประกอบด้วย ชุดเครื่องเอกซ์ทรูเดอร์ชนิดสกรูคู่ ชุดเครื่องบรรจุแนวตั้งแบบกึ่งอัตโนมัติ ชุดเปลี่ยนขนาดถ้วยถาดระบบ Vacuum ซึ่งมีสามารถแปรรูปอาหารในระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ทางโครงการยังจัดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม รวมทั้งการบริหารจัดการให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะยกระดับการผลิตไปสู่ระดับอุตสาหกรรม

ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ภาคใต้ที่มีความพร้อมเข้ามาขอรับบริการในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในหลายโครงการ โดยมีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำแนะนำในการผลิตและการบริหารจัดการด้านการผลิต ตัวอย่างเช่นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวด้วยเครื่อง Extruder ไม่ว่าจะเป็น ขนมขบเคี้ยวพองกรอบจากแป้งกล้วยน้ำว้า ทุเรียน มันสำปะหลัง ขนมอบกรอบเพื่อสุขภาพผสมข้าวกล้อง หรือจากข้าวสังข์หยด หรือการผลิตเส้นพาสต้าจากแป้งกล้วยน้ำว้า เป็นต้น


