ผลงานเด่น

นักวิจัยไทย เพิ่มมูลค่าเปลือกมังคุดพัฒนา “เจลนาโนอิมัลชัน”รักษาแผลกดทับจากสารสกัด “แซนโทนบริสุทธิ์” รายแรก

“มังคุด” ได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งผลไม้ไทย และเปลือกมังคุด ยังมีคุณค่ามากกว่าที่คิด โดยสกัด “สารแซนโทน” นำมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากนำมาทำเครื่องสำอางแล้ว สารแซนโทนยังมีฤทธิ์ในการรักษาแผล ขณะที่โลกก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงประเทศไทย ที่มีผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้พบปัญหาแผลกดทับในทั้งผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยสูงอายุมากขึ้น แต่ยาที่ใช้รักษาแผลกดทับส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาจมีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะ (antibiotics) ที่จะก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาเมื่อใช้ไปนาน ๆ ดังนั้น การใช้เภสัชภัณฑ์รักษาแผลกดทับที่มีแซนโทนบริสุทธิ์ จากเปลือกมังคุด เป็นสารออกฤทธิ์ จะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ลงได้ ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนให้ความสนใจต้องการใช้สารสกัดแซนโทนบริสุทธิ์มาทำผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาผู้ป่วยแผลกดทับ แต่การนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์จะต้องมีกระบวนการในการสกัดสารแซนโทนบริสุทธิ์ที่รวดเร็ว และสามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากเพียงพอในระดับอุตสาหกรรม จึงเป็นที่มาของ โครงการ “ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากสารสกัดแซนโทนในเปลือกมังคุดอินทรีย์ด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟีขั้นสูงในระดับอุตสาหกรรม” ภายใต้การผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัย โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) 

ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายกำลังการผลิตสารแซนโทนให้ได้ในปริมาณที่มากเพียงพอกับความต้องการในภาคอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์ยารักษาแผลกดทับ จากเดิมที่ผลิตได้ประมาณ 30 กรัมต่อเดือน รวมถึงสามารถควบคุมปริมาณสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์และแก้ปัญหาสีของผลิตภัณฑ์ให้น่าใช้มากขึ้น ทีมวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะแยกสารตัวอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ออกจากเปลือกมังคุดให้คงเหลือแต่สารแซนโทนบริสุทธิ์มาใช้ประโยชน์ จึงต้องมีการผลิตเครื่องต้นแบบสกัดสารจากเปลือกมังคุดที่สามารถสกัดสารได้ในปริมาณมากขึ้นและได้สารแซนโทนในปริมาณสูง เพื่อใช้ในการแยกสารแซนโทนบริสุทธิ์ และนำไปใช้ในการพัฒนาเจลนาโนอิมัลชัน ซึ่งมีบริษัท ควอลิตี้พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้การสนับสนุนทุนวิจัย  โดยแบ่งออกเป็น 3 งานวิจัยย่อย เริ่มจาก 1.การสร้างเครื่องสกัดสารจากเปลือกมังคุดที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถสกัดสารจากเปลือกมังคุดได้ปริมาณที่มากขึ้นในเวลาที่น้อยลง 2.เมื่อได้สารกัดหยาบนำมาแยกสารแซนโทนบริสุทธิ์และการขยายกำลังการผลิตของสารแซนโทน และ 3.นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยารักษาแผลกดทับ ที่เรียกว่า “เจลนาโนอิมัลชัน” ตามลำดับ

ผศ.ดร.เมธี สายศรีหยุด จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เครื่องสกัดสารที่พัฒนาขึ้นนี้ มีขนาดความจุ 50 ลิตร โดยการสกัดสารจะใช้ความดันสูงและอุณหภูมิสูง และใช้ระยะเวลาการผลิตลดลงจากวิธีเดิมที่ต้องใช้เวลานาน เริ่มจากการใส่เปลือกมังคุดลงไปในเครื่องครั้งละ 15 -20 กิโลกรัม พร้อมกับใส่ตัวทำละลายเพื่อแยกสารที่มีอยู่ในเปลือกมังคุดออกมาทั้งหมด ด้วยระบบความดันและอุณหภูมิสูง จะได้สารสกัดหยาบออกมา 1.5 – 2 กิโลกรัม หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของวัตถุดิบที่ใช้ ในเวลาเพียง 3 – 4 ชั่วโมงต่อครั้ง จากระบบเดิมที่ต้องใช้ในการเวลาสกัดนาน 5 วัน

ดร.อุดมลักษณ์ กล่าวถึงขั้นตอนการสกัดสารแซนโทนบริสุทธิ์ว่า เมื่อได้สารสกัดหยาบแล้ว ก็จะนำมาผ่านขั้นตอนการแยกสาร เพื่อแยกเอาเฉพาะสารแซนโทนบริสุทธิ์ออกมาจากสารสกัดเปลือกมังคุด  โดยใช้วิธีโครมาโทรกราฟี เป็นวิธีแยกสารโดยอาศัยคุณสมบัติในการละลาย ขนาด และประจุของโมเลกุลสารในองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนคงที่ (stationary phase) และส่วนเคลื่อนที่ (mobile phase) ในการแยกสารแซนโทนบริสุทธิ์  ซึ่งโครงสร้างของกลุ่มสารแซนโทนบริสุทธิ์ที่ได้ประกอบด้วยสารอนุพันธ์ที่สำคัญ 3 ตัว โดยเฉพาะ α-mangostin, γ-mangostin และ β-mangostin ซึ่งมีผลต่อการออกฤทธิ์ โดยมีปริมาณสาร α-mangostin 70% หรือสูงกว่า ส่วนการขยายกำลังการผลิตสารแซนโทนนั้น งานวิจัยนี้เราสามารถขยายกระบวนการการผลิต ให้ได้สารแซนโทนบริสุทธิ์ออกมาปริมาณ 17-20 กรัม ภายในระยะเวลา 3-4 ชั่วโมง ดังนั้น หากสามารถผลิตได้ 1 กิโลกรัมต่อเดือน จะสามารถนำไปผลิตเครื่องสำอางหรือยารักษาแผลกดทับได้ประมาณ 1,000 ตันต่อเดือน และหากสามารถขยายกำลังการผลิตได้มากขึ้นอีก ก็จะสามารถส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้ 

ด้าน รศ.ดร.เภสัชกร รัฐพล อาษาสุจริต จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้วิจัยและพัฒนาเจลนาโนอิมัลชันแซนโทนสำหรับรักษาแผลกดทับ กล่าวว่า เมื่อได้สารแซนโทนบริสุทธิ์มาแล้วจะนำไปใช้เป็นสารออกฤทธิ์ของผลิตภัณฑ์รักษาแผลกดทับที่เรียกว่า “เจลนาโนอิมัลชันแซนโทน” โดยงานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาสูตรตำรับเจลนาโนอิมัลชันแซนโทนจากเปลือกมังคุด ศึกษาสมบัติทางเคมีกายภาพ ประเมินความสามารถในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย ความเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนัง ความสามารถในการเพิ่มจำนวน การเคลื่อนย้ายของเซลล์ผิวหนังของเจลนาโนอิมัลชัน และประเมินประสิทธิผลในการรักษาแผลกดทับของเจลนาโนอิมัลชันแซนโทนในสัตว์ทดลอง

“ เจลนาโนอิมัลชันแซนโทน เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับการรักษาแผลกดทับ ใช้แซนโทนบริสุทธิ์เป็นสารออกฤทธิ์ และใช้นาโนเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานในการผลิตทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสมบัติทางเคมีกายภาพ เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้รักษาแผลกดทับมีความสามารถในการยึดเกาะบาดแผล ช่วยลดความถี่ในการบริหารยาทำให้การนำส่งแซนโทนเพื่อรักษาแผลกดทับมีประสิทธิภาพ และเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับบาดแผลกดทับที่อาจลึกถึงชั้นใต้หนังแท้หรือมีการลุกลามถึงกล้ามเนื้อและกระดูก เจลนาโนอิมัลชันแซนโทนที่พัฒนาขึ้นจึงผ่านการศึกษาผลของการทำปราศจากเชื้อ (sterilization) ต่อสมบัติเคมีกายภาพของผลิตภัณฑ์มาแล้วซึ่งพร้อมสำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับภาคเอกชน และจากการทดลองรักษาแผลกดทับในสัตว์ทดลองพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เจลนาโนอิมัลชันแซนโทนสามารถรักษาแผลกดทับได้อย่างรวดเร็วโดยพบว่าภายในหนึ่งสัปดาห์แผลจะเริ่มแห้งและมีขนาดเล็กลง แตกต่างจากกลุ่มควบคุมที่ต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์จึงจะเห็นผลที่ชัดเจน จุดเด่นของเจลนาโนอิมัลชันแซนโทน คือ ช่วยสร้างเนื้อเยื่อใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนัง ไม่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ และตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvents) จึงไม่ก่อการระคายเคืองและแสบแผล หลังจากนี้ ซึ่งทางทีมวิจัยจะได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้กับบริษัทฯ เพื่อนำไปศึกษาวิจัยในคนต่อไป” รศ.ดร.เภสัชกร รัฐพล กล่าว.

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *