ผลงานเด่น

เทคโนโลยี PASS+ และ PASS+ P เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบ นวัตกรรมที่ไม่ใช้ความร้อนสำหรับฟาร์มโคนมรายแรกของโลก ฝีมือคนไทย

นักวิจัย ผนึกภาคเอกชนไทย พัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่ใช้ความร้อนสำหรับฟาร์มโคนม รับเทรนด์ Novel Food โดยใช้ระบบยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ด้วยแสงคลื่นสั้นเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบ หรือ PASS+ และการเก็บรักษานมพลาสเจอไรซ์โดยใช้เทคโนโลยี PASS+P ช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์นมจาก 14 วันเป็น 28 วันได้สำเร็จเป็นรายแรก หวังยกระดับเกษตรกรฟาร์มโคนมของไทย เพื่อรับมือการเปิดเสรีทางการค้า หรือ FTA ในปี 2568

ดร.เดวิด มกรพงศ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ระบบยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ในฟาร์มโคนมและในโรงงานแปรรูปนม หรือเรียกว่าเทคโนโลยี PASS+ กล่าวถึงโครงการพัฒนาคุณภาพและอายุในการเก็บรักษาน้ำนมพลาสเจอไรซ์โดยใช้เทคโนโลยี PASS+ ภายใต้การผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัยโดย แผนงานเกษตรและอาหารมูลค่าสูง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ว่า เป็นโครงการที่พัฒนาต่อยอดมาจากเทคโนโลยีระบบยับยั้งความเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ด้วยแสงคลื่นสั้นเพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบให้กับฟาร์มโคนมชื่อย่อว่า PASS+

ดร.เดวิด มกรพงศ์

ดร.เดวิด มกรพงศ์

สาเหตุที่สนใจพัฒนาเทคโนโลยีนี้ เนื่องจากปัญหาด้านการขนส่งที่ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโตหรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกินกว่ามาตรฐานกำหนด ส่งผลให้คุณภาพน้ำนมดิบที่เข้าสู่โรงงานหรือศูนย์รับซื้อน้ำนมดิบมีคุณภาพลดลง เพราะจุลินทรีย์ เป็นสิ่งมีชีวิต กินสารอาหารในนมแล้วคายเอนไซม์ออกมา ตัวเอนไซม์คือตัวที่ทำให้นมบูดและเสีย ส่งผลโดยตรงกับอายุของผลิตภัณฑ์นม 

แต่ด้วยสภาวะอากาศที่ร้อนชื้นของไทยทำให้เชื้อจุลินทรีย์สามารถเติบโตได้ทุก ๆ 30 นาที จากเชื้อตั้งต้น 100,000 ตัว ซึ่งเป็นเชื้อดีและถือเป็นนมที่มีคุณภาพดีจากฟาร์ม แต่ในการขนส่งหรือขั้นตอนโลจิสติกส์ที่ไม่มีระบบทำความเย็นหากระยะเวลาในการขนส่งนานกว่า 30 – 120 นาที จุลินทรีย์ก็จะโตขึ้นเรื่อย ๆ จาก 100,000 ตัวขึ้นไปถึง 800,000 ตัว ทำให้เกษตรกรถูกหักเงินหรือเสียโอกาส เนื่องจากการทำฟาร์มโคนมของไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยหรือเลี้ยงแบบกระจายตัว ทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนรถขนส่งขนาดใหญ่ที่มีระบบทำความเย็นเพื่อขนส่งน้ำนมดิบ จึงเป็นลักษณะการเช่าเหมารถกระบะเพื่อรับขนส่งน้ำนมดิบจากหลายๆ ฟาร์มไปส่งโรงงานแปรรูปหรือศูนย์รับซื้อน้ำนมดิบ 

ดร.เดวิด กล่าวว่า ในประเทศไทยมีฟาร์มโคนมอยู่ทั้งหมด 15,000 ฟาร์ม มีวัวอยู่ประมาณ 500,000 ตัว เฉพาะในพื้นที่สระบุรีเพียงจังหวัดเดียวมีฟาร์มโคนมากที่สุดคิดเป็น 25% ของทั้งประเทศ และจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลฟาร์มในจำนวน 500 ฟาร์ม พบว่า กว่า 60% ของน้ำนมดิบที่ถูกส่งมายังศูนย์รับซื้อฯ หรือโรงงาน มีคุณภาพน้ำนมเกินมาตรฐาน หมายถึงมีเชื้อจุลินทรีย์เกินกว่ามาตรฐาน ส่งผลให้เกษตรกรถูกหักเงินหรือถูกปฏิเสธการรับซื้อ โดยเฉพาะฟาร์มแรกที่รถไปรับนมก่อนจะได้รับความเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบมากที่สุด

“งานของเราจึงเน้นเรื่องของคุณสมบัติทางด้านจุลินทรีย์รวมจะต้องมีปริมาณที่น้อย หรือยับยั้งการกลับมาโตได้ นอกจากระบบทำความเย็นและจะต้องเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีความร้อน เนื่องจากกฎหมายห้ามใช้ความร้อนที่ฟาร์มโคนมเพราะหมายถึงการแปรรูปอาหาร โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2559 จากโครงการจบ ป.เอก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็ยังคงพัฒนาเรื่อยมา โดยมาเป็นนักวิจัยร่วมกับ ผศ.น.สพ.ดร.ชัยเดช อินทร์ชัยศรี ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีระบบยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ด้วยแสงคลื่นสั้นเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบ (Pre- Aseptic- Sterilization System Plus ) หรือเรียกว่า PASS+  เป็น เทคโนโลยี Novel Food  โดยใช้ระบบรังสีพลังงานคลื่นสั้น ที่สามารถใช้ในฟาร์มโคนมได้สำเร็จ เป็นรายแรกของโลกในปี 2563  และยังเป็นภาคเอกชนไทยรายแรกที่ได้รับทุน Newton Fund จากประเทศเดนมาร์ก ทำให้ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม ปัจจุบันได้พัฒนาออกมาแล้วหลายรุ่น

เนื่องจากระบบรังสีคลื่นสั้นที่พัฒนานี้ จะทำลายและควบคุมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้นานถึง 2 ชั่วโมง โดยไม่ต้องผ่านระบบทำความเย็นและไม่กระทบต่อองค์ประกอบในน้ำนมดิบ เมื่อนำน้ำนมดิบผ่านเข้าเครื่องตั้งแต่ในฟาร์ม เวลาผ่านไปเชื้อก็จะไม่โตระหว่างทางที่ขนส่งไปยังศูนย์รับซื้อน้ำนมดิบหรือโรงงานแปรรูป ซึ่งจากผลการทดสอบนำน้ำนมดิบที่ผ่านเครื่องไปทิ้งไว้กลางแดด พบว่าเชื้อจุลินทรีย์ไม่มีการเติบโต ถือเป็นเทรนด์อาหารที่ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ที่ไม่ใช้ความร้อน หรือ Trend of Non-Thermal Process in Food Industral เป็นแนวโน้มของกระบวนการไม่ใช้ความร้อนในอุตสาหกรรมอาหารและมีความปลอดภัยด้านอาหาร หรือ Food Grade เพราะความร้อนยิ่งน้อย ทำให้สารอาหารยังคงอยู่มาก” 

ในส่วนของโครงการพัฒนาคุณภาพและอายุในการเก็บรักษาน้ำนมพลาสเจอไรซ์โดยใช้เทคโนโลยี PASS+ ภายใต้การผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัย บพข. นั้น ดร.เดวิด กล่าวว่า เนื่องจากเราเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบตั้งแต่ต้นทาง นอกจากเรื่องเชื้อจุลินทรีย์แล้ว เรายังมองเรื่องอายุหรือการเก็บรักษา โดยนำเทคโนโลยี PASS+ มาใช้ร่วมกับนมพลาสเจอไรซ์ เพราะเชื่อว่าอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลง หลังเปิดการค้าเสรีในปี 2568 จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรฟาร์มโคนมในประเทศ จึงต้องเร่งปรับตัว กรณีฟาร์มที่ทำดีอยู่แล้ว สามารถทำพลาสเจอไรซ์เองได้ สามารถทำตลาดออนไลน์ได้ หรือหันมาแปรรูปนมในฟาร์มเอง และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโรงงานแปรรูปขนาดใหญ่ 

ดังนั้น โครงการนี้ จึงได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า “PASS+ P” เน้นการใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก ขนาดเครื่องที่เหมาะสม ติดตั้งง่าย การใช้งานง่ายไม่ยุ่งยาก และราคาไม่แพง เหมาะสำหรับฟาร์มขนาดเล็กที่ต้องการยกระดับ และเกษตรกรที่ต้องการทำนมพลาสเจอไรซ์ รวมถึงเกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องการขนส่งน้ำนมดิบ เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับฟาร์มโคนมก่อนถึงเดดไลน์ 

เครื่อง PASS+P สำหรับเกษตรกรฟาร์มโคนม

ดร.เดวิด อธิบายว่า โดยทั่วไปการผลิตนมยูเอชที หรือนมกล่อง จะใช้ความร้อนที่ 130 องศา ทำให้สามารถเก็บได้นานถึง 2 ปี ขณะที่นมพลาสเจอไรซ์ หรือนมขวด ซึ่งมีรสชาตินมที่สดกว่า เพราะใช้ความร้อนที่ 70 องศา ข้อเสียคือระยะเวลาเก็บได้เพียง 14 วัน และต้องเก็บในตู้เย็น แต่เครื่องรุ่น PASS+ P ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีความร้อนหรือเทคโนโลยีอาหารในอนาคตโดยใช้ระบบรังสีพลังงานคลื่อนสั้นสำหรับอาหารเข้ามาใช้ในฟาร์มโคนม นอกจากช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์แล้ว ยังช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์นมพลาสเจอไรซ์ให้นานขึ้นจาก 14 วัน เป็น 28 วัน โดยผลการทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการและเกษตรกร Contract Farm ได้ผลออกเหมือนกัน คือ สามารถเพิ่มอายุของผลิตภัณฑ์นมได้จริง

สำหรับการทำงานของเครื่อง นมที่รีดเสร็จแล้วจะไหลเข้าไปตามท่อ ลงแท็งค์รับน้ำนม เมื่อถึงระดับที่กำหนดตัวเซ็นเซอร์จะเริ่มทำงานส่งน้ำนมดิบจากแท็งค์ไหลผ่านเข้าเครื่อง ระยะเวลาทำงานของเครื่องอยู่ที่ 5 ลิตร/นาที หรือ ในเวลา 1 ชั่วโมง จะได้นมพลาสเจอร์ไรซ์ขนาด 300 ลิตร เชื่อว่า ถ้าเกษตรกรหันมาใช้เทคโนโลยีนี้ จะทำให้มีรายได้จากการขายน้ำนมดิบคุณภาพดีเพิ่มขึ้น 50 สต. – 1 บาท/ลิตร หรือในกรณีเกษตรกรที่ต้องการผลิตนมพลาสเจอไรซ์ขายเองก็สามารถบรรจุขวดขายได้ทันที ซึ่งปกติราคาขายนมพาสเจอร์ไรซ์ขนาด 200 ml จะอยู่ที่ขวดละ 20 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

 วีดีทัศน์ Smart Value Creation 2021 – นวัตกรรม PASS+>>>

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *