ผลงานเด่น

IoT ผนึก AI นวัตกรรมอาหารทะเล 4.0: เพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน เชื่อมผู้บริโภคอย่างมั่นใจ

ผศ. ดร.สกุณา เจริญปัญญาศักดิ์ หัวหน้าโครงการการพัฒนาตลอดห่วงโซ่ของสินค้าอาหารทะเล 4.0 ในพื้นที่ภาคใต้ กรณีศึกษาปูทะเล กล่าวถึงงานวิจัยดังกล่าวภายใต้การผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัยโดย แผนงานกลุ่ม BCG ภูมิภาค หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ว่า โครงการวิจัยนี้เป็นการบูรณาการต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมอาหารทะเลมูลค่าสูงในพื้นที่ภาคใต้ โดยใช้กรอบแนวคิดการขับเคลื่อนจากปริมาณความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมรับประทานอาหารทะเลสด นำไปสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากและขยายผล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน

ผศ. ดร.สกุณา เจริญปัญญาศักดิ์ หัวหน้าโครงการการ

“งานวิจัยนี้มุ่งสร้างมาตรฐานเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและการพัฒนาตลอดห่วงโซ่สินค้าอาหารทะเล ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยพบว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ผลผลิตจากทะเลได้รับผลกระทบ ในขณะที่ความต้องการบริโภคยังมีมากเช่นเดิม จากวิกฤติดังกล่าวนักวิจัยจึงนำเทคโนโลยีอย่าง Internet of Things (IoT), Core Platform (ConnexThings), Smart RFID มาประยุกต์ โดยใช้ปูทะเล (ปูนิ่ม) ในการทำวิจัย เพื่อหนุนเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลในภาคใต้มีการเติบโตที่ยั่งยืน”

ทั้งนี้ การออกแบบระบบการวิจัยดังกล่าว เป็นการเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การเพาะพันธุ์และเพาะเลี้ยง รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลางน้ำ ประกอบด้วยการขนส่งวัตถุดิบสดและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และปลายน้ำ เป็นการติดตามด้วยระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบติดตามการเดินทางของอาหารตลอดทั้งวงจร นับตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต การแปรรูป การขนส่ง การกระจายสินค้าไปจนกระทั่งอาหารถึงมือผู้บริโภค

ขณะเดียวกันได้มีการนำเทคโนโลยี IoT & AI มาประยุกต์ใช้กรณีศึกษาปูทะเล (ปูนิ่ม) ซึ่งเป็นการทดลองใช้ IoT Technology ในการสร้างระบบ Traceability แบบครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมปูนิ่ม ทั้งนี้ระบบ IoT จะช่วยแก้ปัญหาการควบคุมคุณภาพของการเพาะเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน โดยมีรูปแบบการเลี้ยงแบบ Closed System ทั้งแบบแนวนอนและแนวตั้ง (คอนโด) เพื่อสร้างความหลากหลายของพื้นที่ให้กับปูนิ่ม ทำให้สามารถควบคุมปริมาณกำลังการผลิตปูนิ่มให้ได้มาตรฐานมากขึ้น

นอกจากนี้ ผศ. ดร.สกุณา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการออกแบบติดตั้ง IoT System ที่ทีมนักวิจัยพัฒนานั้น สามารถนำไปใช้กับฟาร์มเพาะเลี้ยงปูนิ่ม ทั้งแบบแนวตั้งและแนวราบ ภายใต้การทำงานแบบครบวงจร โดยมีการพัฒนา Software บน In-House PSU IoT Platform เพื่อทำระบบ Traceability รวมถึงการพัฒนาโมเดล Machine Learning ในการตรวจจับการลอกคราบของปูทะเล การพัฒนาระบบการ Feed อาหารให้ปูแบบอัตโนมัติ ในรูปแบบการเลี้ยงแบบคอนโด

“การนำระบบ IoT เข้ามาใช้สามารถช่วยลดภาระงานของเกษตรกร ในส่วนของการดูแลโดยมี Sensors ตรวจวัด, มีระบบการให้อาหารอัตโนมัติ,  และมีระบบ AI ตรวจจับการลอกคราบ นอกจากนี้ในเรื่องการขนส่งมีการพัฒนาระบบ Traceability ระหว่างการขนส่ง ทำให้สามารถตรวจสอบ และการติดตามเพื่อควบคุมคุณภาพ ความสดใหม่ของสินค้า รวมทั้งการนำ Sticker RFID + Temp Sensor แบบแผ่นแปะบน Package  ทำให้ผู้บริโภคสามารถสแกน QR Code เพื่อตรวจสอบคุณภาพของของสินค้า ณ จุดจำหน่าย ทำให้เกิดความมั่นใจว่าสินค้าที่ซื้อได้มาตรฐาน สะอาด และปลอดภัย”

 

ในอนาคต ผศ. ดร.สกุณา ระบุว่า จะนำส่วนของ IoT & AI System สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเล ไปขยายผลกับภาคธุรกิจ โดยมุ่งเป้าไปที่ฟาร์มขนาดกลางและใหญ่เป็นหลัก พร้อมทั้งเอื้ออำนวยให้กลุ่มเกษตรกรรายเล็กสามารถเช่าใช้ระบบในราคาย่อมเยาว์ และจะขยายความร่วมมือกับธนาคารปู เพื่อใช้ระบบการเพาะเลี้ยงแบบต้นทุนต่ำ ในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าว มีการทดลองตลาดโดยจำหน่ายที่ตลาดเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เฉพาะวันจันทร์ วันพุธและวันศุกร์ จำหน่ายในกิโลกรัมละ 300 บาท/ปูนิ่ม 4-5 ตัว

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการขับเคลื่อนพัฒนาตลอดห่วงโซ่ของสินค้าอาหารทะเล ในภาคใต้ นอกจากการพัฒนานวัตกรรมจาก IoT & AI system แล้ว ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับเกษตรกรรายใหญ่เพื่อนำไปใช้งาน ในสภาวะการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถยกระดับห่วงโซ่อาหารทะเลสู่การสร้างระบบอาหารที่สมดุลและยั่งยืน

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *