ผลงานเด่น

ยกระดับรถไฟฟ้ารางเบา ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ขยายเศรษฐกิจฐานชุมชน

ระบบรถไฟฟ้ารางเบา คืออะไร ต่างจากรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในประเทศตอนนี้ยังไง

ระบบรถไฟฟ้าในโลก แบ่งออกเป็น 5 ส่วน 

  1. รถไฟฟ้ารางเบา (LRT)เป็นระบบรถไฟฟ้าที่ไม่ใหญ่มาก ลักษณะเด่นคือ สามารถวิ่งบนผิวจราจรร่วมกับรถยนต์ได้ เหมือนกับในยุโรป ญี่ปุ่น ที่วิ่งบนถนน ติดไฟแดงร่วมกับรถยนต์ ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.
  2. เมโทร หรือ subway หรือ Heavy rail เป็นรถไฟฟ้าที่ใหญ่ขึ้น บรรทุกผู้โดยสารได้เยอะขึ้น ใช้ขนส่งมวลชนในเมืองหลักที่มีจำนวนเที่ยวค่อนข้างถี่ เป็นลักษณะของ BTS MRT 
  3. Intercity train รถไฟฟ้าระหว่างเมือง เช่น airport link หรือรถไฟฟ้าสายสีแดงที่เชื่อมระหว่างเมืองออกมาชานเมือง จะบรรทุกผู้โดยสารได้มาก และมีความเร็วมากขึ้น 
  4. Commuter train คล้ายกับอินเตอร์ วิ่งระหว่างเมืองต่อเมือง ยังไม่มีในประเทศไทย 
  5. High Speed Train เป็นรถที่วิ่งระหว่างภูมิภาค มีความเร็วสูง พวก shinkansen ญีปุ่น CRH ของจีน TGV ของฝรั่งเศส และยังแยกได้อีกหลายประเภท ถ้าเป็นระบบรางเก่าก็จะวิ่ง 200 กม./ชม.ขึ้นไป ถ้าระบบรางใหม่จะมากกว่า 250 กม./ชม. 

ทำไมให้ความสำคัญกับระบบราง

เริ่มต้นมาจากยุทธศาสตร์ชาติที่จะมีนโยบายเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บวกกับเส้นทางรถไฟไทย-จีนที่จะวิ่งผ่านภาคอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์พอดี ท่านอธิการบดีรับนโยบายมาจากภาครัฐให้พัฒนา ผลิตบุคลากรเพื่อป้อนให้กับสายรถไฟที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้นนโยบายมหาวิทยาลัยจึงสะท้อนออกมาในด้านนี้

โดย การวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย : เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม” ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมการทำงานยุทธศาสตร์ของจังหวัดขอนแก่น ที่มีนโยบายเรื่อง Smart City ซึ่งมีโครงการรถไฟฟ้ารางเบารวมอยู่ด้วย โดยโครงการนี้มีแผนที่จะให้ภาคเอกชนผลิตตัวรถที่จะป้อนให้กับโครงการ (บริษัทเชาว์ทวี) แต่ยังขาดองค์ความรู้ทางด้านการออกแบบ สิ่งที่จะมาเติมเต็มได้คืออาจารย์จากฝั่งมหาวิทยาลัย องค์ความรู้ที่ได้ไปเรียนมาจากต่างประเทศ ก็เอามาบูรณาการร่วมกัน เพื่อที่จะออกแบบรถไฟฟ้ารางเบาให้กับภาคเอกชนไปผลิต และสามารถต่อยอดผลิตขายในเชิงพาณิชย์ได้ กลายเป็นองค์ประกอบที่ลงตัวค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะการออกแบบรถไฟฟ้าจะใช้ผู้เชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์ร่วมกัน ทั้งวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธา ร่วมกันออกแบบ

ทำไมจึงเลือกรถไฟฟ้ารางเบาสำหรับระบบขนส่งในขอนแก่น

ขอนแก่นเป็นเมืองรองของประเทศ ระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมควรจะเป็นอะไรที่มีต้นทุนการก่อสร้างไม่สูงมาก อย่าง LRT ต้นทุนจะไม่สูงมากเท่ากับ BTS MRT มีงบประมาณก่อสร้างไม่สูงมากเนื่องจากสามารถวิ่งบนผิวจราจรได้ แค่เปิดผิวจราจร เอารางวาง แล้วก็เทคอนกรีตกลับไปเหมือนเดิม ไม่ต้องมีการขึ้นโครงสร้างเสา ทำให้งบก่อสร้างถูกมาก ขอนแก่นมีโครงการรถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่น ที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ โดยบริษัท KKTT เป็นภาคเอกชนที่จัดตั้งโดยเทศบาลทั้ง 5 ของจังหวัด ตั้งขึ้นมาเพื่อเดินรถของจังหวัดขอนแก่น KKTT จะซื้อรถจากต่างประเทศก่อน (เฟสแรก) บางส่วนจะผลิต (สำหรับเฟสถัดไป) เน้นเรื่องชิ้นส่วนการผลิตที่ผลิตในไทย และจะทำให้ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศ พอโครงการรถไฟฟ้ารางเบาขึ้น รถต้นแบบของเราจะใช้ไปวิ่งในราง ระยะทาง 26 กม. จากสถานีสำราญ ไปถึง สถานีท่าพระ วิ่งตามแนวถนนมิตรภาพ

นี่เป็นโครงการยุทธศาสตร์จังหวัดซึ่งมีแผนจะสร้างรถไฟฟ้ารางเบาอยู่แล้ว มีแผนที่จะเสร็จปี 2565 จังหวะนั้นโครงการของขอนแก่นน่าจะเริ่มก่อสร้าง จะเป็นรูปเป็นร่าง พอเสร็จโครงการนี้ บริษัทเชาว์ทวี ที่เป็นผู้ร่วมทุนวิจัยหลักของโครงการ จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยตรงนี้ มีฐานข้อมูลชิ้นส่วนจะเอาไปพัฒนาต่อยอด ผลิตใช้จริงในจังหวัดขอนแก่น บ.เชาว์ทวี จะผลิตและส่งรถให้ KKTT ต่อไป

เปรียบเทียบราคาวัสดุ ถ้านำเข้าจากต่างประเทศ กับผลิตในไทย

เราเริ่มตั้งแต่กระบวนการ R&D ผู้วิจัยจะออกแบบชิ้นส่วน 3D ทั้งหมดเลย พอออกแบบเสร็จจะประชุมร่วมกับภาคเอกชนว่า ออกแบบแล้วผลิตได้มั้ย ติดขัดในกระบวนการผลิตหรือไม่ วัตถุดิบมีมั้ย แม่พิมพ์แบบนี้ทำได้มั้ย ในเชิงวิศวกรรมต้องมีการคุยกันระหว่างผู้ออกแบบกับผู้ผลิต สิ่งนี้คือสิ่งที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน อาจารย์จะมีความรู้ด้านการออกแบบ ภาคเอกชนสายการผลิตเข้มแข็ง เราเอาสองสิ่งมารวมกัน 

ถ้าเราซื้อรถจากต่างประเทศ (finish goods) เฉพาะตัวรถ 90 ล้านบาท (1 ขบวน= 2 ตู้) ถ้าผลิตในไทย จะมีราคาขายที่ประมาณ 70 ล้านบาท ส่วนหนึ่งคือราคาลดลง อีกส่วนที่เป็นประโยชน์มากที่สุดคือ Supply Chain ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ในประเทศ ถ้าซื้อจากต่างประเทศ เราเอาเงินไปให้ได้รถมา แต่อุตสาหกรรมไม่เกิด ถ้าเป็นการผลิตในประเทศ เชาว์ทวีขายรถให้ KKTT ในราคาเท่านี้ แต่เชาว์ทวีต้องซื้ออะไหล่ภายในประเทศ เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบ Supply Chain การผลิตรถไฟ เกิดขึ้นในประเทศทันที ม ผู้ซื้อในประเทศ ซื้อจากคนผลิตในประเทศ ผู้ผลิต ผู้ประกอบรถจะต้องซื้อชิ้นส่วนที่ผลิตจากชิ้นส่วนย่อย ๆ ในประเทศ เกิด supply chain การผลิตรถไฟฟ้ารางเบาในประเทศทันที เป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดจากโครงการวิจัย 

ผลกระทบที่สร้างให้เกิดขึ้นกับประเทศคืออะไร

สิ่งที่ตอบโจทย์ภาครัฐมากที่สุดคือ ประเทศไทยจะลดการเสียดุลทางด้านการนำเข้า ถ้าเราซื้ออย่างเดียว เราขาดดุลด้านเทคโนโลยี แต่ถ้าเราออกแบบผลิตใช้เอง เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น จากภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เกิด supply chain ทั้งชิ้นส่วน การจ้างงาน สังคม แรงงานไม่ต้องไปทำงานที่กรุงเทพก็ได้ ได้ทำงานในพื้นที่ เป็นสิ่งที่ดี ลูกหลานที่เรียนจบก็ทำงานแถวบ้าน เกิดผลด้านสังคมตามมา มีการจ้างงานเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมด้านนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลักด้านนี้จะอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ลูกหลานที่จบก็ต้องลงไปทำงาน ตั้งถิ่นฐานที่โน่น เกิดความแออัด ถ้าเกิดว่าอุตสาหกรรมขยายออกมา จะช่วยลดความหนาแน่นของประชากรในกรุงเทพได้อีกด้วย ถ้าเกิดแบบนี้ในอีกหลายจังหวัดจะเกิดการขยายตัวทางอุตสาหกรรม เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น เป็น Impact ที่มีผลดีต่อประเทศ

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *