ผลงานเด่น

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โอกาสใหม่เศรษฐกิจไทย ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง

ประเทศไทยมีปริมาณขยะจำนวนมากที่ต้องนำไปจัดเก็บไว้ในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ปัญหาคือจะทำอย่างไรถึงจะลดขยะ 16.5 ล้านตันได้ และไม่ใช่แค่ลดขยะอย่างเดียว ประเทศจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากขยะเหล่านั้นได้อย่างไร สร้างให้มี Start up ใหม่ที่จะช่วยสร้างธุรกิจเกิดใหม่จากการใช้ทรัพยากรเวียนซ้ำได้อย่างไร เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ 

รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศหรือ บพข. กล่าวว่า” เศรษฐกิจหมุนเวียนตอนนี้ได้รับความนิยมมากไม่ว่าจะในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดมาจาก 2 คำ คือคำว่า “เศรษฐกิจ” ซึ่งมุ่งเน้นให้ประเทศแข่งขันได้ อีกคำหนึ่งคือคำว่า “หมุนเวียน” คือการพยายามใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แล้วเราจะใช้สูงสุดได้อย่างไร นั่นก็คือการทำให้ทรัพยากรเกิดการหมุนเวียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด ก่อนที่จะไปสู่ปลายทางหรือกลายเป็นขยะ เราต้องบริหารจัดการทรัพยากรให้มีของเสียน้อยที่สุด นั้นจะทำให้ต้นทุนต่ำลง รายได้ก็เยอะขึ้น ขยะน้อยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศ” 

สินค้าที่จะส่งไปต่างประเทศก็เช่นกัน อีกไม่นานจะเกิดมาตรฐาน ที่ต้องบอกได้ว่าสิ่งที่เราส่งออกไปนั้นมีวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้มากน้อยเท่าไหร่ สมมุติกำหนดไว้ที่ 30% ถ้าเราไม่สามารถทำได้ ก็ไม่สามารถส่งออกสินค้าชิ้นนั้นได้ มาตรฐานนี้หมายถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย จุดนี้ทำให้บพข.เข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเร่งศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ 

โดยโจทย์งานวิจัยที่แผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียนพร้อมสนับสนุน คือโจทย์วิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง มีภาคเอกชนมาร่วมพัฒนาเทคโนโลยี และที่สำคัญมีประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งมีแผนงานย่อย 4 platform ได้แก่ 1 Design Platform เป็นการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คือการที่มีสินค้าอยู่แล้วอยากพัฒนาให้ขายได้ ผู้ที่จะเข้าร่วมในแพลตฟอร์มนี้คือคนที่เก่งเรื่องการออกแบบ เก่งเรื่องการค้า แผนงานที่ 2 CE Champion คือการพัฒนารูปแบบความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นกลุ่มที่พยายามจะรวมตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตรงไหนที่ขาดหายไปนำไปสู่ปลายทางไม่ได้ กลุ่มนี้จะเข้ามาเชื่อมต่อเพื่อให้ห่วงโซ่มูลค่าสมบูรณ์ 

แบบที่ 3 CE RDI (Research Development Innovation) เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนก็คือ innovation และโซลูชั่นทั้งหลาย เช่นวัสดุรอบ 2 ที่ต้องมีเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ของที่ใช้แล้ว นำส่วนของเสียออกแล้วเอากลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ได้อีกครั้ง แผนงานย่อยสุดท้ายคือ CE Enabling Factors หรือการพัฒนาปัจจัยเกื้อหนุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน คือปัจจัยที่จะทำให้เกิดความหมุนเวียนได้ทั้งหมด เช่นระบบมาตรฐาน กฎระเบียบ กฎหมาย “นี่คือ 4 ปัจจัยที่อยากจะชวนให้นักวิจัยรุ่นใหม่และเอกชนที่สนใจเข้ามาทำงานร่วมกับเรา” รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ กล่าวเสริม

ในระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียนมีโครงการดี ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น โครงการกรีนทูเก็ต ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพัฒนาธุรกิจรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จัดทำโดยคุณเปรมเจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป เขาพบว่ามีขยะหลายชนิดที่สามารถนำกลับเข้ามาในระบบได้ แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ถูกนำกลับเข้ามาในระบบ จึงได้เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มที่ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถดูได้ว่าขยะแต่ละชนิดควรไปที่ไหน มีที่ไหนรับซื้อ ราคาเท่าไหร่ นี่คือ 1 โครงการที่จะช่วยให้คนทั่วไปทำให้เกิดระบบวนเวียนได้ด้วยตัวเอง อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจคือโครงการจาก Platform CE RDI เป็นโครงการจากหน่วยวิจัย VGreen โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำโครงการเกี่ยวกับการจัดการพลาสติกที่เป็นถุงขนม ซึ่งมีฟอยด์หลายชั้นมากในนั้น แต่เราต้องการวัตถุดิบเดี่ยว ๆ กลับมาใช้งาน ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดการแยกพลาสติกออกจากฟอยด์ได้ ทำให้วัตถุดิบกลับคืนสู่ระบบทั้งหมด

นี่ถือเป็นโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจของไทยที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แล้วสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงให้เกิดขึ้น นี่เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเป็น Startup ที่มีความคิดจะเข้ามาจัดการทรัพยากรที่ยังไม่หมุนเวียนให้เกิดการหมุนเวียนอย่างเต็มที่ บพข.มีทุนและมีการบริหารจัดการเข้ามาช่วย รวมถึงมีเครือข่ายที่จะร่วมเดินไปด้วยกัน และช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งนั่นเป็นการช่วยประเทศยกระดับความสามารถในการแข่งขันไปพร้อมๆกันด้วย

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *