การสนับสนุนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากสารสกัดแซนโทนในเปลือกมังคุดอินทรีย์ด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟีขั้นสูงในระดับอุตสาหกรรม
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผอ. บพข. พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูงได้เข้าเยี่ยมชมโครงการผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากสารสกัดแซนโทนในเปลือกมังคุดอินทรีย์ด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟีขั้นสูงในระดับอุตสาหกรรม ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการออกแบบ สร้าง และพัฒนาระบบสกัดด้วยของเหลวความดันสูงขนาดกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อสกัดสารออกฤทธิ์จากผลผลิตทางการเกษตร ที่สามารถใช้ตัวทำละลายได้ทั้งเอทานอล และคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งเพื่อขยายการผลิตสารแซนโทนจากเปลือกมังคุดจากระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เจลนาโนอิมัลชันที่บรรจุแซนโทนจากเปลือกมังคุดสำหรับการรักษาแผลกดทับจากสารแซนโทนที่ผ่านการทดสอบทางคลินิกของผลิตภัณฑ์สำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยมี ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ (หัวหน้าโครงการ) ผศ.ดร. เมธี สายศรีหยุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ รศ.ดร. รัฐพล อาษาสุจริต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ เป็นทีมวิจัยผู้รับทุน
บพข. ได้ให้การสนับสนุนครุภัณฑ์ 3 รายการ ได้แก่ เครื่องกลั่นระเหยสารชนิดมีอุปกรณ์ป้องกันการระเบิด (Explosion-proof Rotary Evaporator) เครื่องแยกสารบริสุทธิ์ด้วยเทคนิคการปั่นเหวี่ยง และ เครื่องมือวัดกระแสการไหล (Rheometer)
เจลนาโนมิมัลชั่นแซนโทนสำหรับรักษาแผลกดทับ ผลงานนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลงานจากคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์รักษาแผลกดทับสำหรับการนำไปศึกษาในระดับคลินิก เป็นการศึกษาสมบัติทางเคมีกายภาพ โดยมีการประเมินความสามารถในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย ความเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนัง ความสามารถในการเพิ่มจำนวนและการเคลื่อนย้ายของเซลล์ผิวหนัง รวมถึงประเมินความสามารถในการรักษาแผลกดทับในสัตว์ทดลอง โดยที่มาของการวิจัยการใช้เปลือกมังคุดซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาจากงานวิจัยของแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนไทย พบว่า แซนโทนในเปลือกมังคุดมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคทางเดินอาหาร โรคทางเดินปัสสาวะ โรคผิวหนัง จาก งานวิจัย The effectivity of topical mangosteen pericarp extract cream on wound healing in Swiss albino mice ได้กล่าวถึงการใช้สารสกัดหยาบจากเปลือกมังคุดในรูปแบบครีมเพื่อสมานแผล ส่วนเจลนาโนอิมัลชั่น มีคุณสมบัติมีความคงตัว เพิ่มการดูดซึมได้ เพิ่มการยึดเกาะผิวหนัง เสริมฤทธิ์การรักษา เพิ่มชีวปริมาณออกฤทธิ์ ทำให้การนำส่งยาเข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับการรักษาแผลกดทับซึ่งมีความลึกถึงชั้นใต้หนังแท้ และอาจลุกลามไปถึงชั้นกล้ามเนื้อและกระดูก
ผลการศึกษาพบว่า เจลนาโนอิมัลชันแซนโทนสำหรับรักษาแผลกดทับ มีความคงตัวทั้งทางเคมี และทางกายภาพ มีความสามารถในการเพิ่มจำนวนและกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนย้ายเซลล์ผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับการหายของบาดแผล ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ มีสมบัติที่ดีในการส่งเสริม การสมานบาดแผลกดทับในสัตว์ทดลอง


โรงงานต้นแบบการผลิตพรีไบโอติกด้วยเอนไซม์
โครงการวิจัยที่ บพข. ให้การสนับสนุนทุนกับทีมนักวิจัยคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกหนึ่งโครงการคือโครงการกระบวนการต้นแบบการผลิตพรีไบโอติกด้วยเอนไซม์ซึ่งมี รศ.ดร.สุทธิพันธ์ แก้วสมพงษ์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขยายสเกลกระบวนการผลิตพรีไบโอติกด้วยเอนไซม์ในระดับโรงงานต้นแบบ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกต้นแบบที่เพียงพอต่อการทดสอบตลาด รวมถึงกระบวนการทำให้สารพรีไบโอติกส์บริสุทธิ์ในบริมาณมาก ซึ่งจะสามารถต่อยอดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดย บพข. ได้ให้การสนับสนุนครุภัณฑ์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตพรีไบโอติกด้วยเอนไซม์ประกอบด้วย ชุดสกัดไขมันระดับโรงงานต้นแบบ ชุดถังปฏิกิริยาการย่อยของเอนไซม์สำหรับวัตถุดิบที่เป็นของเหลว ชุดถังปฏิกิริยาการย่อยของเอนไซม์สำหรับวัตถุดิบที่เป็นของแข็ง และ ชุดเครื่องแยกสารให้บริสุทธิ์โดยเทคนิคโครมาโตรกราฟี




โครงการกระบวนการต้นแบบการผลิตพรีไบโอติกด้วยเอนไซม์ ถือเป็นการสนับสนุนภาคเอกชนให้สามารถต่อยอดอุตสาหกรรมการผลิตพรีไบโอติกด้วยเอนไซม์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทดสอบการตลาดของพรีไบโอติก เพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมด้าน
อาหารสุขภาพได้ รวมถึงครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการแปรรูปด้วยเอนไซม์อื่นๆ
เพื่อให้บริการกับนักวิจัยที่สนใจสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์จากกระบวนการแปรรูปด้วยเอนไซม์ในระดับโรงงานต้นแบบ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังมีแนวคิดในการพัฒนาการให้บริการแก่ผู้สนใจใช้บริการ โดยการดำเนินการที่มีลักษณะ one stop service ให้มีการดำเนินงานที่คล่องตัวแบบเอกชนโดยทีมงานคุณภาพต่อไป
โรงงานต้นแบบสนับสนุน SME ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารเกษตรของประเทศ
บพข. ได้ให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการขยายสเกลและยกระดับงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่โรงงานต้นแบบจากโครงสรางพื้นฐานเดิมที่มีอยูให้ครบถ้วน เพื่อขยายผลจากการวิจัยระดับห้องปฏิบัติการ และเพื่อทดสอบการผลิตที่มีการขยายขนาดขึ้นโดยให้บริการการวิจัยแก่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรในประเทศ โรงงานต้นแบบครบวงจรได้พัฒนาให้ตอบโจท์ยภาคเอกชน ขับเคลื่อนให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตส่วนผสมอาหารมูลค่าสูงในประเทศไทยเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวทางด้านการพัฒนานวัตกรรมอาหาร
ครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนุบสนุนจาก บพข. ได้แก่ เครื่องเหวี่ยงสะบัดแยกกาก ชุดสารสกัดออกฤทธิ์โดยใช้ไมโครเวฟ (Microwave Extractor Set) เครื่องกรองแบบไหลขวางระดับกึ่งโรงงานต้นแบบ เครื่องลดขนาดอนุภาค (Microfluidizer) เครื่องอบแห้งแบบกระเด็นกระดอน (Fluidized bed spray coater) และเครื่องตอกเม็ดยา Rotary
- เครื่องกรองแบบไหลขวางระดับกึ่งโรงงานต้นแบบ
- เครื่องเหวี่ยงสะบัดแยกกาก
- ชุดสารสกัดออกฤทธิ์โดยใช้ไมโครเวฟ
(Microwave Extractor Set) - เครื่องตอกเม็ดยา Rotary
- เครื่องลดขนาดอนุภาค (Microfluidizer)
- เครื่องอบแห้งแบบกระเด็นกระดอน (Fluidized bed spray coater)