ข่าว

การศึกษาแนวทางเพื่อเปลี่ยน PPE ใช้แล้วและขยะปลอดเชื้อให้เป็นพลังงาน โดยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน

ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (Coronavirus Disease2019: COVID-19) ที่ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย นอกเหนือจากปัญหาด้านการสาธารณสุขที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ การจัดการขยะที่เกิดจากการป้องกันและรักษาโรคจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แก่ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม ถุงหุ้มรองเท้า รวมไปถึงชุดป้องกันร่างกายที่ใช้เพียงครั้งเดียว (Single-Use PPE) ยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ทั่วโลกยังต้องคำนึงถึง ปัจจุบันการจัดการขยะติดเชื้อจากสถานบริการการสาธารณสุขส่วนใหญ่ใช้วิธีการเผา รวมทั้งการกำจัดด้วยระบบการฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำ ก่อนนำไปทิ้งเป็นขยะมูลฝอยชุมชนต่อไป ซึ่งวิธีการจัดการเหล่านี้มีข้อจำกัด และหากขาดประสิทธิภาพและมาตรฐาน อาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขอนามัยชุมชนและสิ่งแวดล้อมทั่วไปได้ ในการนี้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) มีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน (3-State Gasification) มาใช้ในการจัดการขยะปลอดเชื้อ หรือขยะที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำแล้วเพื่อกำจัดและเปลี่ยนขยะปลอดเชื้อเป็นพลังงาน

การศึกษาแนวทางเพื่อเปลี่ยน PPE ใช้แล้วและขยะปลอดเชื้อให้เป็นพลังงาน โดยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน

แก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน (3-Stage Gasification) เป็นเทคโนโลยีระดับโรงงานต้นแบบ ติดตั้ง ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จ.นครราชสีมา รองรับวัตถุดิบ 10 ตันต่อวัน เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลและของเหลือทิ้ง มีส่วนประกอบหลัก 5 ส่วน คือ ระบบป้อนและอบแห้งวัตถุดิบ ระบบเตาผลิตแก๊สเชื้อเพลิงสังเคราะห์ ระบบทำความสะอาดแก๊ส ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 200 กิโลวัตต์ ผลผลิตจากแก๊สซฟิเคชัน ได้แก่ แก๊สเชื้อเพลิงสังเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วยไฮโดรเจน และคาร์มอนมอนอกไซด์ ซึ่งแก๊สเชื้อเพลิงสังเคราะห์นี้สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและความร้อน กระบวนการแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูง และมลพิษต่ำกว่าการเผาไหม้ทั่วไป

ในปี 2562 วว. ร่วมกับบริษัทนำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด ประสบความสำเร็จในการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ระบบแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอนในการกำจัดขยะปลอดเชื้อและเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และในปี 2563 วว. ได้ดำเนินงานชยายขอบเขตการวิจัยให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อศึกษาการเปลี่ยน PPE ใช้แล้วและขยะปลอดเชื้อให้เป็นพลังงาน รวมทั้งสร้างต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการ PPE ใช้แล้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อจากสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และขยะปลอดเชื้ออื่นๆ เพื่อเป็นพลังงานและมลพิษต่ำ ด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน ภายใต้โครงการ “การศึกษาแนวทางเพื่อเปลี่ยน PPE ใช้แล้วและขยะปลอดเชื้อให้เป็นพลังงานโดยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน”

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *