ข่าว

บพข. ประสาน มอ. เร่งผลักดันงานวิจัยอาหารฟังก์ชันมูลค่าสูง

โครงการพัฒนาต่อยอดสารสกัดสำหรับผสมในอาหาร เพิ่มมูลค่าขมิ้นชันแดงสยาม สมุนไพรท้องถิ่นใต้
ขมิ้นชันแดงสยาม สมุนไพรท้องถิ่นเอกลักษณ์ภาคใต้

ร.ศ. ดร. ธงชัย สุวรรณสิชลน์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการกลุ่มแผนอาหารมูลค่าสูง ได้เข้าติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาสารสกัดขมิ้นชันเป็นสารอาหารเชิงหน้าที่ในอาหารและเครื่องดื่ม โดยมี ผ.ศ. ดร.ฉัตรชัย วัฒนาภิรมย์สกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัย ให้การต้อนรับ และนำเสนอความก้าวหน้าโครงการ (กันยายน 2565)

โครงการพัฒนาสารสกัดขมิ้นชันเป็นสารอาหารเชิงหน้าที่ (Functional Ingredient) ในอาหารและเครื่องดื่มมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสารอาหารเชิงหน้าที่จากสารสกัดขมิ้นชัน โดยเน้นจากสารสกัดที่มีปริมาณเคอร์คูมินอยด์สูงเพื่อพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพและเครื่องดื่มจากขมิ้นชัน รวมทั้งเพื่อพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จากของเหลือในกระบวนการสกัดขมิ้นชัน โดยมีภาคเอกชนผู้ร่วมทุนคือ บริษัท โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารปิดสนิท และผลิตภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง อาทิ ทูน่ากระป๋อง แซลมอนกระป๋อง ทูน่านึ่งสุกแช่เยือกแข็ง เป็นต้น บริษัท โชติวัฒน์ฯ มีความสนใจการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเชิงหน้าที่ และอาหารทางการแพทย์ โดยใช้ขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบ เพื่อรองรับตลาดอาหารผู้สูงอายุ และอาหารสำหรับผู้ป่วย เพื่อขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ขมิ้นชัน เป็นพืชสมุนไพรที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมานานในฐานะสมุนไพรที่ให้สารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์ที่มีสรรพคุณมากมาย เช่น มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ บำรุงความจำ เสริมความแข็งแรงของกระดูก ป้องกันความเสื่อมและส่งเสริมภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย เป็นต้น โครงการวิจัยนี้ ใช้ขมิ้นชันพันธุ์แดงสยาม จากกลุ่มเกษตรกร อ.ควนโดน และ อ.บ้านตาขุนจังหวดสุราษฎร์ธานี ซึ่งขมิ้นชันพันธุ์แดงสยามที่ปลูกในพื้นที่ภาคใต้ ถือเป็นขมิ้นชันที่ขึ้นชื่อ ที่มีสารเคอร์คูมินอยด์ในปริมาณสูง มีรสชาติเผ็ดร้อน และให้สีเหลืองจัดเหมาะในการประกอบอาหาร หรือสกัดสารสำคัญเพื่อให้ฤทธิ์ทางยาได้ในปริมาณสูง

สำหรับความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาสารสกัดขมิ้นชันฯ เพื่อการพัฒนาสารสกัดเชิงหน้าที่จากขมิ้นชันที่มีปริมาณเคอร์คูมินอยด์สูง ซึ่งมีลักษณะเป็นผงหยาบ (แกลนูล) และของเหลว ที่ให้ฤทธิ์เชิงหน้าที่ที่เหมาะสม เพื่อทดแทนการนำเข้าสารสกัดจากต่างประเทศ จากการวิจัยพบว่า การสกัดโดยใช้เอทานอลเป็นตัวทำละลาย สามารถให้สารเคอร์คูมินอยด์ในปริมาณสูงถึง 67% ในรูปแบบสารสกัดผงหยาบ และการพัฒนาตำรับสารสกัดขมิ้นชันรูปแบบของเหลวไมโครอิมัลชัลนั้น ได้ตัวอย่างของไมโครอิมัลชั่นที่มีขนาดอนุภาค (partical size) ระยะเวลาในการเกิดอิมัลชั่น และความคงตัวที่เหมาะสม ที่พร้อมเติมในอาหารเชิงหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการพัฒนาแป้งจากของเหลือจากการสกัดขมิ้นชัน ได้ผงแป้งในปริมาณไม่มาก ยังมีสีเหลือง และมีสภาพไม่สมบูรณ์ โดยเปรียบเทียบกับการสกัดแป้งจากไข่ขมิ้นสด (หน่อใหม่หรือรากปมที่เก็บอาหารของขมิ้น) ให้ปริมาณแป้งมากกว่า ดังนั้นการศึกษาการพัฒนาแป้งจากกากของเหลือในกระบวนการสกัดยังคงต้องใช้เวลาพัฒนาต่อไป

หลังจากได้ผลการวิจัยแล้ว จะไปสู่การการขึ้นทะเบียนสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากขมิ้นชัน โดยทีมวิจัยและผู้ประกอบการกำลังดำเนินการเพื่อให้ได้ทะเบียนสารสกัดที่เป็นส่วนผสมในของอาหารซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ตามเจตนารมย์ บพข. แผนอาหารมูลค่าสูง ในการผลักดันงานวิจัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ สร้างจุดขายให้กับประเทศไทย

งานวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตส่วนประกอบอาหารฟังก์ชัน “ข้าวสังข์หยดพัทลุง” สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
Brown Rice, Sangyod Muang Phatthalung Rice is Geographical Indications in Thailand.

การเยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการยกระดับการผลิตส่วนประกอบฟังก์ชันจากข้าวมีสีอัตลักษณ์ไทยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์: กรณีนำร่องข้าวสังข์หยด นำโดย รศ.ดร.สันทัด วิเชียรโชติ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ หัวหน้าโครงการ ได้ให้รายละเอียดความก้าวหน้าโครงการ ครั้งที่ 1 ว่า โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการผลิตส่วนประกอบฟังก์ชัน (Functional ingredient) จากข้าวสังข์หยด จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) รำข้าวเสถียร (Stabilized rice bran) 2) น้ำมันรำข้าวบีบเย็น (Cold-pressed rice bran oil) 3) แป้งข้าวย่อยบางส่วน (Pre-hydrolyzed rice starch) และ 4) โปรตีนข้าว
ซึ่งเป็นการศึกษาการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบ การควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน และผลิตจริงในโรงงานหรือสถานที่ผลิตที่ได้รับมาตรฐาน GMP เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปสู่การขึ้นทะเบียน อย. ที่เป็นส่วนประกอบฟังก์ชันของรำข้าวเสถียรและน้ำมันรำข้าวบีบเย็น

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชลน์ รอง ผอ.บพข. คณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง และ รศ.ดร.สันทัด วิเชียรโชติ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ

ข้าวสังข์หยดพัทลุง เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสีแดงจากสารแอนโทไซยานินสูง มีโปรตีนคุณภาพดีจากรำข้าว เป็นแหล่งเปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดี เช่นมีสมบัติต้านการก่อมะเร็ง ลดความดันโลหิต ต้านอนุมูลอิสระ โดยโปรตีนในรำข้าวหรือเมล็ดข้าวนั้น ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ เป็นโปรตีนที่สามารถย่อยได้สูงกว่าโปรตีนจากธัญพีชอื่นๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และข้าวฟ่าง ข้าวสังข์หยดยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไทย (THAI GEOGRAPHAICAL INDICATION) จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการพัฒนากระบวนการแปรรูป และการขึ้นทะเบียนส่วนประกอบฟังก์ชัน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผลิตผลทางการเกษตร ที่เป็นอัตลักษณ์ของไทย โดยในปัจจุบันการแปรรูปข้าวสังข์หยดยังมีปริมาณไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปขั้นต้นไม่ซับซ้อน เช่น ข้าวเปลือกที่ผ่านกระบวนการสีให้ได้ข้าวซ้อมมือ ปลายข้าวและรำข้าว การบดข้าวสังข์หยดเป็นแป้งเพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์อาหารหรือเบเกอรี่ หรือการคั่วให้ได้ข้าวสุกและแห้ง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารและเครื่องดื่ม หรือเป็นส่วนประกอบของการผลิตเครื่องสำอาง หรือการผลิตน้ำมันรำข้าวด้วยวิธีบีบเย็น เป็นต้น

Purple Black Rice represents the concepts of anthocyanin rich food and healthy eating.

ข้าวสังข์หยด ตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563 – 2567 ถือเป็นข้าวที่มีคุณลักษณะพิเศษ ที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ในกลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) ซึ่ง Euromonitor ประเมินว่าตลาดอาหารฟังก์ชั่นของโลกมีมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านดอลลาห์สหรัฐ และ มีอัตราการเติบโตที่สูงไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี ส่วนในประเทศไทยเอง ถูกคาดการณ์ว่าตลาดอาหารฟังก์ชันน่าจะมีปริมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท และเป็นตลาดที่กำลังขยายตัวอย่างมาก โครงการยกระดับการผลิตส่วนประกอบฟังก์ชันจากข้าวมีสีอัตลักษณ์ไทยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์: กรณีนำร่องข้าวสังข์หยด ที่สนับสนุนโดย บพข. จึงถือเป็นการนำร่องให้กับตลาดอาหารฟังก์ชั่นได้เป็นอย่างดี

ภาคเอกชนผู้ร่วมทุนและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในโครงการฯ เป็นบริษัทในท้องที่ที่มีวัตถุดิบข้าวสังข์หยด ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าวสังข์หยดเป็นอย่างดี มีศักยภาพสูง มีความพร้อมในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี มีโรงงานที่ได้มาตรฐาน ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง บริษัท บ้านไทยเฮิร์บ จำกัด หจก.คชศิลป์ เบเวอเรจ และ บริษัท โอรี่ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด

จากรายงานความก้าวหน้าของโครงการวิจัยฯ ครั้งที่ 1 นั้น ทำให้ได้กระบวนการผลิตและสกัดในระดับโรงงานต้นแบบของการผลิตรำข้าวเสถียร การสกัดเย็นน้ำมันรำข้าว การผลิตโปรตีนย่อยบางส่วน และกระบวนการผลิตข้าวกล้องสังข์หยดคั่วบดที่ผ่านการแป้งย่อยบางส่วน ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการนำไปต่อยอดการผลิต และเข้ากระบวนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เพื่อนำผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์

บพข. สนับสนุนการต่อยอดนวัตกรรมเพิ่มมูลค่า “เซรั่มน้ำยางพารา” สู่สุดยอดสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน และเวชสำอาง
Rubber plantation

คณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง ได้เข้าเยี่ยมชมความก้าวหน้า ” โครงการนวัตกรรมและการส่งเสริมการสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมยางพาราใหม่ : ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยาชีวภาพ/(ชีวเภสัชภัณฑ์) จากเซรั่มน้ำยางพารา ” ซึ่งมี ผศ.ดร.เภสัชกร ฐณะวัฒน์ พิทักษ์พรปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ จากน้ำยางพาราสู่เชิงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ด้าน คือ 1. เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมูลค่าสูงต้านมะเร็งจากสารสกัดเซรั่มน้ำยางพารา ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัย การพัฒนาโรงงานต้นแบบระดับอุตสาหกรรมมาตรฐาน GMP สำหรับผลิตสารสกัดและสารชีววัตถุจากเซรั่มน้ำยางพาราแบบครบวงจร สำหรับผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร BGOs ในเชิงพาณิชย์ และ 2. การพัฒนาและรับรองคุณภาพชีววัตถุ สารสกัดเซรั่มน้ำยางพาราทางการแพทย์เพื่อการขึ้นทะเบียนอาหารใหม่ (novel food) ที่มีการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (health claim) ของ BGOs ที่ผลิตได้จากเซรั่มน้ำยางพารา รวมทั้งศึกษากลไกการออกฤทธิ์ระดับโมเลกุล (molecular mechanism) ของสาร BGOs และวิจัยระดับคลินิกเฟส2 (clinical study phase II) ของ BGOs ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก

Rubber production,Baking process timber with solar energy.

ประเทศไทยถือเป็นแชมป์ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2020 มีเนื้อที่ปลูกยางพาราภายในประเทศ กว่า 25 ล้านไร่ มีผลผลิตกว่า 4.9 ล้านตัน (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) แต่เนื่องจากความผันผวนของราคายางพาราในตลาดโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศเน้นหนักไปที่การแปรรูปขั้นต้นเนื้อยางเพื่อส่งออกสำหรับเป็นวัสดุพื้นฐานในงานอุตสาหกรรม ทำให้ทีมผู้วิจัยภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากน้ำยางพาราสู่เชิงพาณิชย์ (Center of excellence in natural rubber latex biotechnology research and development, CERB) ซึ่งมีการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปี เพื่อให้ได้นวัตกรรมการผลิตสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพมูลค่าสูงหลายชนิด รวมถึงเอนไซม์ที่มีศักยภาพสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสารมูลค่าสูง เช่นสารสกัดสำหรับเวชสำอาง สารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งในระดับเซลล์สัตว์ทดลอง และในมนุษย์ สารที่มีฤทธิ์ต้านโรคความจำเสื่อม (Alzheimer) และสารตั้งต้นมูลค่าสูงสำหรับสังเคราะห์ยา เป็นต้น มีความสนใจศึกษาส่วนประกอบของ “เซรั่มน้ำยางพารา” ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในน้ำยางถึง 65% และเป็นผลพลอยได้ (By Product) จากกระบวนการผลิตเนื้อยาง ดังนั้น งานวิจัยฯ นี้ จึงสอดคล้องกับการผลักดัน BCG Economy ของประเทศ และถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพารา ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านอาหารมูลค่าสูงของประเทศ

โดยงานวิจัยในโครงการนี้เป็นการนำซีรั่มจากยางพาราซึ่งเป็นของเหลือใช้อุตสาหกรรม (waste) ผ่านกระบวนการที่มีความจำเพาะในการย่อย β-Glucan ให้มีขนาดตามที่ต้องการ ซึ่งจากงานวิจัยสามารถย่อยน้ำหนักโมเลกุลของ β-Glucan จนทำให้ได้ผลที่มีขนาดโมเลกุลขนาดเล็กมากถึง 5 – 100 KDa ซึ่งมีความสามารถในการนำสารสำคัญเข้าไปลึกถึงผิวหนังแท้และเพิ่มความแข็งแรงของผิว โดยใช้ชื่อการค้าของβ-Glucan โมเลกุลเล็กนี้ว่า BGOs

เบต้ากลูแคน (β-Glucan) เป็น Polysaccharide ชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการจัดเรียงตัวของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวของกลูโคสชนิดเบต้า ซึ่งลักษณะการจัดเรียงตัวกัน ก็ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาโดยส่วนใหญ่แล้ว จะพบในผนังเซลล์ของพวกยีสต์ รา สาหร่าย เห็ด ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น โดยมีคุณสมบัติสามารถกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เมื่อร่างกายได้รับเบต้ากลูแคนเข้าไป มาโครเฟจ(Macrophage) ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวกลุ่มหนึ่งในร่างกายจะถูกกระตุ้นให้มีความสามารถในการสังเกตุเห็นเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีเอกสารทางวิชาการมากกว่า 1,000 รายงาน ผลการศึกษาที่ยืนยันประสิทธิภาพของเบต้ากลูแคนที่สามารถกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบต้ากลูแคนในกลุ่ม เบต้า1,3/1,6 กลูแคน(Beta 1,3/ 1,6 Glucan) ซึ่งเป็นเบต้ากลูแคนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังมีการใช้เบต้ากลูแคนในอุตสาหกรรมผิวหน้าและความงาม รายงานจาก Thai Journal of Pharmaceutical Sciences (TJPS) , Development of skincare cosmetic from yeast beta-glucans กล่าวว่าจากการทดสอบการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังพบว่า Beta glucan สามารถเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิวหนังได้เป็นอย่างดี

หากดูตลาดและแนวโน้มการขยายตัวในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลกที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2562 อุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 380,000 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ โดยอัตราการเติบโต (CAGR) อยู่ที่ 5.8% และคาดว่าจะมีมูลค่ามากถึง 463,000 ล้านดอลล่าสหรัฐ ในปี พ.ศ.2570 (ที่มา:www.alliedmarketresearch.com) โดยทวีปที่มีมาเก็ตแชร์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมากที่สุดคือ ทวีปเอเชียมากถึงร้อยละ 46 ตามด้วย อเมริการเหนือ ยุโรปตะวันตก และลาตินอเมริกา ที่มีมาร์เก็ตแชร์ร้อยละ 24 18 8 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ถือส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 46.8 และเมื่อลองพิจารณาการใช้สกินแคร์อย่างเจาะจงจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่บำรุงรักษาผิวหน้า 81% บำรุงรักษาผิวกาย 12% ปกป้องผิวจากแดด 6% และบำรุงรักษาบริเวณปาก 1% และจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตสู่การชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ทุกวันนี้คนไทยหันมาดูแลตัวเองที่บ้านมากยิ่งขึ้น จากการสำรวจของนีลเส็น ระบุว่าคนไทยมากกว่าร้อยละ 35 หันมาดูแลตัวเองที่บ้านมากยิ่งขึ้นและมองว่าการดูแลตัวเองที่บ้านคือไลฟ์สไตล์ใหม่ของพวกเขา สอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยขององค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (The Hong Kong Trade Development Council หรือ HKTDC) ระบุว่า คนไทยมากกว่าร้อยละ 81 ยังมีพฤติกรรมในการใช้จ่ายเพื่อผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากโควิด-19 และเมื่อวิเคราะห์ beauty community ก็จะพบว่า เทรนด์การใช้ Twitter เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางความงามก็มีตัวเลขที่น่าสนใจ อ้างอิงค์ข้อมูลจาก Euromonitor เรื่อง “เทรนด์ความงามและผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวของชาวเอเชีย” และ Global Web Index ข้อมูล Q3/62-Q2/63 พบว่า ร้อยละ 77 ของคนไทยที่ใช้ Twitter มีความสนใจในการดูแลผิวพรรณและร่างกายของตน อีกทั้ง 72% ของคนที่ใช้เครื่องสำอางจะหารีวิวจากและหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางความงามใหม่ ๆ นอกจากนี้แล้ว Twitter ยังมีตัวเลขของการพูดคุยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล (personal care) มากถึง 60 ล้านทวีต

การพัฒนาและรับรองคุณภาพชีววัตถุ สารสกัดเซรั่มน้ำยางพาราทางการแพทย์เพื่อการขึ้นทะเบียนอาหารใหม่ (novel food) และการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ระดับโมเลกุล (molecular mechanism) ของสาร BGOs ในการประเมินฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและต้านการอักเสบจากการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของ β-Glucan oligosaccharide (BGOs) จากเซรั่มน้ำยางพารานั้น พบว่า การทดสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์สาร BGOs นั้น ได้ผ่านการทดสอบโดยไม่พบสารที่เป็นพิษ methanol หรือ Formic acid ปนเปื้อน และมีโลหะหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งไม่พบการปนเปื้อนของโปรตีน หลังจากผ่านกระบวนการทดสอบเบื้องต้น จะไปสู่กระบวนการขอรับรองคุณภาพชีววัถตุต่อไป ส่วนการประเมินฤทธิ์การต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารพบว่าหนูทดลองที่ได้รับสารทดสอบ BGO ขนาดความเข้มข้น 50, 100 และ 200 mg/kg B.W. อย่างต่อเนื่องมีปริมาณแผลในเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารน้อยกว่าหนูทดลองที่ไม่ได้รับสารทดสอบ และมีปริมาณแผลน้อยใกล้เคียงกับหนูทดลองที่ได้รับยามาตรฐาน

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *