ผลงานเด่น

ยกระดับอาชีพเกษตรกรไทย ใครบอกว่าทำไม่ได้

ด้วยพื้นที่ของประเทศไทยมีความเหมาะสมในด้านการเกษตรจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เกษตร” คือสิ่งที่ทำให้คนไทยมีอาหารเลี้ยงปากท้องและสร้างรายได้กับครัวเรือน ต่อยอดไปจนถึงการสร้างรายได้ให้ประเทศ แต่ทำไมเกษตรกรส่วนใหญ่ยังยากจน มีคุณภาพชีวิตต่ำ ทั้งด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ทางการเงิน กลายเป็นช่องว่างทางสังคมที่เกิดขึ้นและอยู่คู่เกษตรกรไทยมาทุกยุค

รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้าโครงการยกระดับอาชีพเกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก แผนงานกลุ่ม BCG ภูมิภาค หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)

รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท หัวหน้าโครงการวิจัย

รศ.รังสรรค์ กล่าวว่า “สาเหตุความเหลื่อมล้ำมีหลายอย่าง ในพื้นที่ชนบท ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข การเข้าถึงบริการจากรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเกษตร ที่คนในพื้นที่ประกอบอาชีพมากในทุกภาคของประเทศ จากประสบการณ์ในการทำงานเชิงนโยบายและการปฏิบัติงานจริง ที่ทำงานคลุกคลีกับเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานมานาน เห็นว่าการยกระดับรายได้ของเกษตรกรในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ยากต้องใช้เวลาจึงจะสำเร็จ เนื่องจากปัจจัยการผลิต ได้แก่ ที่ดิน ป่า น้ำ และระบบกระจายน้ำ ตลอดจนการเพาะปลูกที่เกษตรกรยังใช้แบบเดิม และต้องพึ่งสารเคมี หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์ รายได้จากผลผลิตขาดทุนมาโดยตลอด ในแง่สุขภาพเกษตรกรก็ประสบปัญหาเจ็บป่วยมากเพราะว่าใช้สารเคมี อีกทั้งเกษตรกรมีอายุสูงวัย ขาดแคลนแรงงาน มีปัญหาหนี้สินสะสม ทั้งในระบบและนอกระบบจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่ปลูก ข้าว อ้อย มัน ยาง จะปรากฏวงจรเหล่านี้ตลอด การยกระดับรายได้ของเกษตรกรจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เหมาะสม ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบ ที่นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเด็นปัญหาและบริบทต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่ จึงเป็นแนวทางที่ทีมวิจัยโครงการนี้ให้ความสำคัญ”

โดยโครงการวิจัยได้นำร่องโดยการปลูกผักปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตรมาใช้ เนื่องจากผักเป็นสิ่งที่คนต้องบริโภค สามารถปลูกหมุนเวียน เพื่อสร้างรายได้ทั้ง 3 ฤดูตลอดปี ทำให้มีกิจกรรม เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนตลอดปี ผลพลอยได้ที่สำคัญคือส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรและผู้บริโภค เนื่องจากเน้นความปลอดภัย แม่นยำในการผลิตแต่ละช่วงเพาะปลูก โดยโครงการเริ่มจากการวิเคราะห์ภูมิสังคม คัดเลือกพื้นที่ และเกษตรกรที่มีความตั้งใจในการเกษตรปลอดภัย เน้นการทำ และพึ่งตัวเองเป็นสำคัญ ตลอดจนการรวมกลุ่มแบ่งงานกันทำในแปลงรวมและแปลงรายคน นอกจากนั้นยังศึกษาตลาดผู้บริโภคว่ามีช่องทางใดในการจัดจำหน่าย ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ รวมทั้งระบบออนไลน์ด้วย

จากการวิเคราะห์ภูมิสังคมว่าเหมาะแก่การปลูกพืชชนิดใดและพัฒนาอะไรได้บ้าง ทั้งพืชเดิมที่เคยชินและพืชใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาด จุดสำคัญคือ เกษตรกรที่เริ่มต้นจะต้องมีระบบรวมกลุ่ม ทั้งนี้ได้เลือกพื้นที่นำร่องที่ประสบปัญหาความยากจนจาก 5 จังหวัด 10 พื้นที่ ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ และหนองบัวลำภู มีการสนับสนุนและเพิ่มทักษะให้กลุ่มเกษตรกร มีความรู้ เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับระบบเกษตรปลอดภัย การวิเคราะห์ดิน การสร้างแปลงและพื้นที่ปลูก การทำปุ๋ยใช้เอง การใช้สารชีวภัณฑ์จัดการกับแมลงศัตรูพืช การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ไปจนกระทั่งการทำตลาดโดยเฉพาะตลาดออนไลน์ ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของพื้นที่ในภาคอีสานคือการขาดแคลนน้ำและระบบกระจายน้ำที่เหมาะสม

โครงการวิจัยมีการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรปรับใช้กับกระบวนการผลิตให้มีความเหมาะสมของพื้นที่ศึกษา เช่น การปรับปรุงแปลงใหม่ โดยใช้อิฐบล็อกในการยกแปลง ทำโต๊ะปลูกในโรงเรือน เพื่อแก้ไขและป้องกันน้ำท่วมขังแปลง ลดการชะล้างดินในช่วงฤดูฝน การใช้สารชีวภัณฑ์จัดการกับแมลงศัตรูพืช เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอร์เรีย เชื้อราเมตาไรเซียม แบคทีเรียบาซิลลัส BS-PR1 เพื่อลดการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืช โรคพืชในแปลง และยังช่วยในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชผัก รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเพิ่มพูนความรู้ ทักษะให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เช่น การจัดกิจกรรมการทำปุ๋ยคอกหมักแห้ง เพื่อลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมี หรืออบรมกิจกรรมการแปรรูปอาหาร การทำสลัดผัก สลัดโรล น้ำผักผลไม้สกัดเย็น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตในพื้นที่ และเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้าในพื้นที่ เป็นต้น

โดยผลลัพธ์จากงานวิจัยสามารถที่จะยกระดับอาชีพเกษตรกรให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการปลูกและแปรรูปพืชผักอย่างปลอดภัย เป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรด้วยรายได้ด้วยความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ ได้รับมาตรฐานความปลอดภัย GAP 50 ราย อยู่ระหว่างการตรวจรับรองอีก 180 ราย รวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตและผู้ประกอบการในพื้นที่โดยมีสถาบันการเงินและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาช่วยสนับสนุนอีกแรง โดยปัจจุบันทางโครงการวิจัยยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้ จากงานวิจัยของคณาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอีกหลายคณะ ตลอดจนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ เข้ามาช่วยและใช้ระบบตลาดออนไลน์ ผ่านทาง Facebook Fanpage: ผักนวัตกรรม มข.-อว. ทำให้ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด เกษตรกรก็ยังได้รับความรู้และมีรายได้เข้ามา ช่วยลดความเดือดร้อนไปได้มาก สิ่งที่น่าภูมิใจคือเกษตรกรในโครงการยังอยู่ร่วมงานกับโครงการเป็นส่วนใหญ่ แม้จะประสบปัญหาในครอบครัวและในพื้นที่อย่างมาก

“เกษตรกรนั้น มีความสามารถในการปลูกได้ทุกชนิด ปัญหาสำคัญคือเหมาะสมกับความต้องการของตลาดหรือไม่ เราจึงเข้าไปช่วยให้เกษตรกรได้เห็นถึงตลาดของผู้บริโภคว่ามีความต้องการพืชผักชนิดใด และจะไปขายให้ในลักษณะใดจึงจะสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความปลอดภัย บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยพร้อมรับประทานได้ ประเด็นนี้จึงต้องร่วมมือและเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการในพื้นที่ ตลอดจนสถาบันการเงินได้เข้ามาเจอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงโอกาสทางการตลาดที่มีอยู่ ในการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าจากผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งต้องการให้ทุกส่วนได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมซึ่งหมายความว่าเกษตรกรก็ต้องอยู่ได้อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่

นอกจากทุนโครงสร้างทางการเกษตรและทุนนวัตกรรมแล้ว สิ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรก็คือ “ทุนมนุษย์” การให้ความรู้และทักษะ ตลอดจนทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกรจนสามารถดำเนินการต่อเองได้และอยากที่จะพัฒนาพื้นที่เกษตรของตัวเองต่อไปด้วยการทำจริง ไม่รอ ไม่ขอ เป็นการปลูกฝังความคิดลงบนทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างมาก รวมถึงการเติม “น้ำดี” ซึ่งคือคนรุ่นใหม่เข้าระบบ เราจึงมีการทำงานร่วมกับกลุ่ม Young Smart Farmer ในพื้นที่รวมถึงการทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่ทยอยกลับพื้นที่มากขึ้น” รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท กล่าว

“จะเห็นว่าเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทางการเกษตรที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบนั้น เป็นเครื่องมือที่นักวิจัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาลดช่องว่างและยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ เพียงแต่ว่าต้องทำให้เหมาะสมกับพื้นฐานเดิมของเกษตรกร และต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างทุนเดิมของเกษตรกรและทุนใหม่ของเทคโนโลยีมาผสมผสานกัน จึงจะทำให้เรายกระดับรายได้และชีวิตของเกษตรกรได้ และนี่คือบทบาทที่ท้าทายมหาวิทยาลัยว่าสามารถนำองค์ความรู้จากการเรียนการสอน การวิจัยพัฒนา มาพัฒนาพื้นที่ชนบท เพื่อสร้างคุณค่าแก่สังคมด้วยการปฏิบัติจริง ทำจริง และเห็นผลจริง”

วีดีทัศน์สรุปผลการดำเนินงานโครงการยกระดับอาชีพเกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *